ก.ล.ต.หารือ‘สมาคมบล.’ ปม‘หุ้นไทย’ต่ำสุด ฉุดกำไรดิ่งสุดรอบ 15 ปี

ก.ล.ต.หารือ‘สมาคมบล.’  ปม‘หุ้นไทย’ต่ำสุด ฉุดกำไรดิ่งสุดรอบ 15 ปี

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการประชุมครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต.และสมาคมบล.ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ “ผลกระทบต่อผู้ประกอบจากสถานการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นไทย” ตั้งแต่ต้นปี 2567 ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลงถึง 3.64% มูลค่าหุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่า 7.9 แสนล้าน

ขณะเดียวกันยังได้วิเคราะห์ถึง “เหตุการณ์หายนะ” เข้ามาเขย่าตลาดหุ้นไทย ด้วยสารพัดปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จนสร้างความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ทำให้มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน 

ก.ล.ต.หารือ‘สมาคมบล.’  ปม‘หุ้นไทย’ต่ำสุด ฉุดกำไรดิ่งสุดรอบ 15 ปี

 

เริ่มจากเกิดกรณีหุ้น MORE ดัชนี SET Index อยู่ที่ 1,619 จุด ต่อมา 1 มี.ค.2566 ตลาดขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น STARK เหตุส่งงบล่าช้า ดัชนี “ยังทรงตัว” ระดับ 1,619 จุด แต่จากนั้นในปีเดียวกัน 31 ส.ค. 2566 เคส JKN แจ้งผิดนัดชำระหุ้นกู้ กระทบดัชนี “ปรับลง” มาอยู่ที่ระดับ 1,565 จุด

เรื่องเก่ายังไม่หายเรื่องใหม่โผล่ขึ้นมาปั่นป่วน บ่งชี้ 20 พ.ย. 2566 รายย่อยนัดหยุดเทรดจาก Naked Short Sell และ Program Trading ดัชนี “ปรับลดลงต่อ” อยู่ที่ระดับ 1,419 จุด ผสานกับความเสี่ยงนอกประเทศที่ไม่สามารถคาดเดาและหลีกเลี่ยงได้ โดย 19 เม.ย. 2567 ความขัดแย้งตะวันออกกลาง และเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ฉุดดัชนี “ยิ่งปรับลงแรง” อยู่ที่ระดับ 1,330.24 จุด และ 30 เม.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 1,367.95 จุด 

โดยปี 2567 ดัชนี SET และ mai ยังคง “Underperform” ต่อเนื่องจากปี 2566 เทียบกับตลาดหุ้นสำคัญในต่างประเทศ SET Index -3.17% และ mai -4.65% เป็นรองจากดัชนี MSCI Latin America ที่ -8.84% หากพิจารณาอีกด้านจะพบ “ตลาดหุ้นที่ขยายตัวสูงสุด 5 อันดับ” นำโดยอันดับ 1 ญี่ปุ่น 14.26%  อันดับ 2 ไต้หวัน 12.78%  อันดับ 3 ยุโรป (STOXX50) 8.84%  อันดับ 4 มาเลเซีย 8.36% อันดับ 5 เวียดนาม 6.81% ตามลำดับ

ดังนั้น นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ตลาดหุ้นไทยมีเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกมากสุดในภูมิภาคและไหลออกมากสุดในปีที่ผ่านมา รวมมูลค่ากว่า -5,507.13 ล้านดอลลาร์ กลุ่มประเทศที่ Fund flow ไหลออกมากสุดรองจากไทยคือ เวียดนาม -1,026.15 ล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ -863.332 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย -514.20 ล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซีย -353.276 ล้านดอลลาร์

ณ 20 มี.ค. 2567 มี Fund Flow ไหลออกมาก จากการขายของต่างชาติ ด้วยไม่มีปัจจัยใหม่สนับสนุน นักลงทุนรอผลประชุมเฟด โดยเฉพาะสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย เงินบาทอ่อนค่าต่อ อีกทั้งยังรอความชัดเจนเงินดิจิทัลวอลเล็ต จึงส่งผลเป็น “ลบ” ต่อ Fund Flow ส่วนการลงทุนตลาดไอพีโอ พบปี 2566 มีบริษัทที่มีราคาหุ้น IPO ต่ำกว่าราคาจองซื้อใน SET ค่อนข้างมากเทียบกับใน mai

นอกจากนี้ ยังประเมินภาวะลงทุนในตลาดหุ้นและธุรกิจหลักทรัพย์ พบว่า ในปี 2566 Net Profit บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ร่วงสู่ระดับต่ำสุดรอบ 15 ปี โดยปี 2566 โต 3% เทียบปี 2556 โตสูงสุด 16.8% ดังนั้น ธุรกิจบล. ประสบปัญหาสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลดลงต่อเนื่อง หรือลดลงไปมากกว่าครึ่งเทียบกับปีที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ 77% ในปี 2544 สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ในปัจจุบัน

ขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์มีแนวโน้มลดลงทุกปี การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนยังไม่เพียงพอจะชดเชยรายได้ลดลง ดังนั้น “การเพิ่มจำนวนนักลงทุน” และ “แหล่งรายได้-ช่องทางให้บริการอื่นเพิ่ม” จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจบล.ต้องปรับตัว จากการประเมินพบว่าสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมนายหน้า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) รายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้ายังคงมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งรายได้ทั้งหมด ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้าน Fee & Service และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การประกอบธุรกิจในภาพรวม บล. มี Cost to Income Ratio สูงขึ้น จากรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายทรงตัวระดับสูง 

สะท้อนถึงการที่ ธุรกิจบล. ต้องพัฒนาและปรับตัวรองรับเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นหลายด้าน เหตุด้วยบทบาทธุรกิจบล. มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนระยะถัดไป