BYD - Glocon แจงกรณีหลังโดน ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำความผิด

BYD - Glocon แจงกรณีหลังโดน ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำความผิด

BYD - Glocon แจงกรณีหลังโดน ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำความผิด เผยเป็นการดำเนินการของทีมผู้บริหารและกรรมการในอดีต ย้ำชัดผู้บริหารชุดปัจจุบันไม่เกี่ยวข้อง บริหารงานโปร่งใส

บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้กระทำความผิดรวม 13 ราย กรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC ในช่วงปี 2558 ซึ่งมีผู้กระทำความผิดบางรายเป็นผู้บริหารและพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น

โดยบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่ง ณ ปัจจุบันบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นและโครงสร้างการจัดการตลอดจนเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นบุคคลที่ปรากฎชื่อตามข่าวของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารและอดีตพนักงาน จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทฯ แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ด้วยการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและยึดมั่นในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับการประเมินตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) ในระดับดีเลิศอีกด้วย

ด้าน นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ระบุเกี่ยวกับกรณี ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด รวม 13 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. กรณีสร้างราคา และปริมาณการซื้อขาย หุ้น FVC พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีต่อ สำนักงาน ปปง. โดยพบว่า ผู้กระทำความผิดมีความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เข้ามาซื้อขายหุ้น FVC และมีพฤติกรรมซื้อขายในลักษณะรู้เห็นหรือตกลงกัน โดยแบ่งหน้าที่กันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC สอดรับและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง 

จนทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น FVC ผิดไปจากสภาพปกติ ในระหว่างวันที่ 25-31 ส.ค.58 รวมเป็นเวลา 5 วัน และวันที่ 9-12 ต.ค.58 รวมเป็นเวลา 3 วัน ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่า ขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น FVC ในปริมาณากและเข้ามาซื้อขายตาม จึงเข้าข่ายเป็นความผิดมาตรา 243(1) ประกอบกับมาตรา 244/3 และระวางโทษตามมาตรา 296  แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งแก้ไขเติมเพิ่ม โดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ (ฉบับที่5) พ.ศ.2599 รายละเอียดปรากฎตามข่าว ก.ล.ต.ที่อ้างถึง

กรณีการซื้อขายหุ้น FVC เป็นการดำเนินการในช่วงทีมผู้บริหารและกรรมการชุดเดิม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต มีนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น เป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อขายหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยทีมผู้บริหารและกรรมการชุดปัจจุบัน เป็นคนละชุดกับทีมผู้บริหารและกรรมการในช่วงเวลาดังกล่าว และมิได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการซื้อขายหุ้น FVC แต่อย่างใด