ดาวโจนส์ ร่วงในกรอบแคบ ก่อนตลาดปิดทำการ 'วันคริสต์มาส' 25ธ.ค.

ดาวโจนส์ ร่วงในกรอบแคบ ก่อนตลาดปิดทำการ 'วันคริสต์มาส' 25ธ.ค.

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(22ธ.ค.)ปรับตัวร่วงลงเล็กน้อย หลังมีการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงในวันนี้ ก่อนที่จะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.เนื่องใน วันคริสต์มาส

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 18.38 จุด หรือ 0.05% ปิดที่ 37,385.97 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น  0.17%  ปิดที่ 4,754.63 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 0.19% ปิดที่ 14,992.97 จุด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" ใน ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ปีนี้ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2567 หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE ที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักเพียง 62.7%

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 6 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.50% มากกว่าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.8% จากระดับ 2.9% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนพ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าทรงตัว หรือปรับตัวขึ้น 0.0% จากระดับ 0.0% ในเดือนต.ค.

ดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.4% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.1% ในเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นอกจากนี้ การเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่สูงกว่าคาดในวันนี้ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 2.0% หลังจากดิ่งลง 5.1% ในเดือนต.ค.

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนต.ค.