STEC เขย่าโครงสร้างสู่โฮลดิ้ง จับตาแก้ไขปัญหาภายใน

STEC  เขย่าโครงสร้างสู่โฮลดิ้ง  จับตาแก้ไขปัญหาภายใน

กลุ่มธุรกิจก่อสร้างในไทยมีรายใหญ่ที่ขึ้นแท่นเป็น 3 ยักษ์ใหญ่จากการมีรายชื่อติดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในหลายรัฐบาล ยิ่งยุครัฐบาลก่อนที่ตะลุยล้างท่อ และเปิดงานก่อสร้างเมกะโปรเจกต์จำนวนมากจนทำให้หุ้นก่อสร้างกลับมามีงานในมือออลไทมไฮกันมาแล้ว

ยิ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลปัจจุบันอย่างพรรคภูมิใจไทย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC   รวมทั้งบริษัทย่อย เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI  เป็นธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว “ชาญวีรกูล”  ที่ยังถือหุ้นผ่านคัสโตเดียน ยิ่งทำให้เป็นที่จับตามอง จากตำแหน่ง “รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย “ กระทรวงเกรดเอได้กุมงบก่อสร้างถนนหนทางทั่วประเทศ!!

      ไม่แปลกที่จะขึ้นแท่นเป็นหุ้นที่มีความใกล้ชิดนักการเมืองไม่แตกต่างจากหุ้นในกลุ่ม “ครอบครัวชินวัตร”  ทั้ง SC – PR9 ด้านพื้นฐานธุรกิจงานก่อสร้างย่อมหนีไม่พ้นการเข้าร่วมรับงานประมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งจะมีผลจิตวิทยาต่อราคาหุ้นมากกว่าตัวเลขกำไรหรือขาดทุน

โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ที่คาดจะเห็นงานก่อสร้างรอบใหม่แต่ยังไม่ง่ายที่ฝ่าหลายด้านออกมาได้   ส่วนงานเดิมที่ได้งานระบบราง โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 รถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย  โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง STEC - บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยังไม่มีอะไรมาเติมเต็ม Backlog

      ฝั่งของรายได้ในอนาคตที่ไม่ชัดเจนกับโครงการขนาดใหญ่แต่ปัญหาสภาพคล่อง และการบริหารหนี้กลับถูกนำมาทบทวนในหลายบริษัท หลังเผชิญปัญหา บจ.ใหญ่ระดับ SET 50  เบี้ยวหนี้หุ้นกู้อย่าง STARK นำไปสู่การตกแต่งบัญชี และทำให้สถานการณ์หนี้ของ บจ. ทั้งระบบระส่ำระสายตลอดทั้งปี 2566 รวมไปถึงกรณีเฉียดเบี้ยวหนี้ของ ITD เดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

 

 

 

 

การลุกขึ้นมาเขย่าโครงสร้างครั้งใหญ่  STEC  ในรอบ 60 ปีจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา โดยเป็นการจัดตั้ง “สเตคอน กรุ๊ป” เป็นบริษัทโฮลดิ้ง  ซึ่งจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ STEC และนำหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน STEC เพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

         บริษัทโฮลดิ้งจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ได้แก่ หุ้นสามัญของบริษัท โดยกำหนดวิธีการชำระค่าหุ้น สามัญเพิ่มทุนของบริษัทโฮลดิ้งในอัตราการแลกหุ้น ที่หุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้ง 1 หุ้นต่อหุ้นสามัญของ STEC จำนวน 1 หุ้น

          โดยระบุเป็นการปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัท เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ ทั้งธุรกิจหลัก และการเข้าลงทุน – ตั้งร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆ จำนวนมาก

         การเสนอซื้อหลักทรัพย์ด้วยการแลกหุ้นสัดส่วน 1:1ในกรณีที่บริษัทซื้อหลักทรัพย์ได้ครบ 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะทำให้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัท Holding (งบการเงินเหมือนกับ STEC ก่อนปรับโครงสร้างทุกประการ) แต่ในกรณีที่มีการซื้อไม่ครบ 100% แต่สูงกว่า 75%จะทำให้กำไรสุทธิ และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ลดลง พร้อมกับจำนวนหุ้นที่ลดลงในสัดส่วนที่เท่ากัน จึงจะไม่มีผลกระทบ Dilution ต่อผู้ถือหุ้นเดิมของ STEC(EPS เท่าเดิม) 

       การดำเนินการจะจัดตั้งบริษัท Holding แล้วเสร็จในเดือนธ.ค.25662  เรียกประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในเดือนก.พ. 2567 เพื่อทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ STEC โดยแลกเปลี่ยนหุ้น 1:1 กับบริษัท Holding ในเดือน มิ.ย. - ก.ค.2567 จากนั้นเพิกถอนหุ้น STEC จาก ตลท. และจดทะเบียนหุ้น Holding แทนภายในเดือนก.ค.2567 และดำเนินการโอนขายหุ้นของบริษัทย่อย, บริษัทร่วม และเงินลงทุนในบริษัทอื่น ไปยังบริษัท Holding ภายในเดือนส.ค.2567

          บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มุมมองเป็นกลางในระยะสั้นเพราะอาจยังไม่เห็นผลของการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่มากนักเนื่องจากรายได้ และกำไรหลักเกือบทั้งหมดของบริษัทยังมาจากธุรกิจรับเหมาฯ และอาจยังต้องรับรู้ผลขาดทุนของธุรกิจใหม่ในช่วงเริ่มแรกก่อน ดังนั้นยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2566-2567 ไว้ตามเดิม

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์