หุ้นสายเก็งกำไร STEC กลับมาพร้อมราคาพุ่ง

หุ้นสายเก็งกำไร STEC   กลับมาพร้อมราคาพุ่ง

การกลับมาของหุ้นก่อสร้างมักจะมาพร้อมช่วงก่อน และหลังเลือกตั้งที่เป็นของคู่กัน เพราะจะมีความคาดหวังนโยบายโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องออกมามูลค่ามหาศาล จึงทำให้มีการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่นนี้ต่อเนื่อง

ดาวเด่นในกลุ่มช่วงเวลานี้ยังเป็น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC   รวมทั้งบริษัทย่อย เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI  เป็นธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว “ชาญวีรกูล”  ที่ยังถือหุ้นผ่านคัสโตเดียน

      สะท้อนได้จากราคาหุ้นที่ก่อนพรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลมีกระแสข่าวหนาหูมาแล้วว่าพรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมพรรครัฐบาลเพื่อดึงเสียงโหวต  ทำให้ STEC ราคาแรงทะลุ 10 บาท ช่วงกลางเดือนก.ค. หลังจากนั้นราคาไม่มีแผ่วจนมาเห็นที่ราคา  12 บาทเรียบร้อย

       ส่วน STPI ที่ราคาหุ้นจ่อที่ 4 บาทตั้งแต่กลางเดือนก.ค. และสามารถไปแตะที่  4.12 บาท ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับหุ้น STEC   ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อชื่อพรรคภูมิใจไทยได้รับการจัดสรรโควตารัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ

และแม้ว่าจะไม่ได้กระทรวงเดิมที่เคยทำงานทั้งกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงคมนาคม แต่โผที่คาดการณ์ตำแหน่ง  “รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย “ ถือว่าได้กุมงบก่อสร้างถนนหนทางทั่วประเทศ!!

       ส่องดูโครงการค้างท่อที่น่าจะเห็นการรับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดเดิม อย่าง  “เมกะโปรเจกต์ “ เป็นเม็ดเงินมหาศาล อาทิ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสีแดงอ่อน  สายสีแดงเข้ม  ,โครงการรถไฟทางคู่  ,โครงการทางหลวงพิเศษ , โครงการท่าอากาศยานทั้งขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศเหนือ และขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3

       โครงการที่นอนมาสำหรับ STEC " โครงการแลนด์บริดจ์" ที่คาดจะเห็นงานก่อสร้างรอบใหม่  หรือโครงการ ครม.อนุญาต  25 ส.ค.2566  ให้สถานบริการเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่งผลดีต่อ บริษัท ยูทีบี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจบริหารเมืองการบินในโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง STEC - บริษัท  การบินกรุงเทพ (BA) และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มูลค่า 3 แสนล้านบาท

        ปัจจุบัน STEC มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นผ่านบริษัท และคัสโตเดียน หลังจากมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงรัฐบาลชุดก่อน   หากเปรียบผลประกอบการแล้วถือว่าได้ STEC  สร้างผลงานเติบโตในช่วงยุครัฐบาลที่ผ่านมาได้เต็มที

       จากสิ้นปี 2565 สะสมงานในมือ (Backlog Order) มูลค่า 114,936 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย งานก่อสร้างของภาครัฐ และภาคเอกชน งานก่อสร้างภาครัฐส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างระบบสาธารณููปโภค เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรถไฟ ทางหลวง เป็นต้น ส่วนของงานก่อสร้างภาคเอกชนเป็นงานก่อสร้างด้านพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้า

       ปี 2566 บริษัทมีเป้าหมายในการรับงานก่อสร้างจากภาครัฐ เช่น โครงการลงทุุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) งานก่อสร้างถนน ทางด่วนพิเศษ รวมทั้งโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแผนงานของรัฐบาลที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

         เมื่ออิงกับรายได้ปี 2565 อยู่ที่  30,573 ล้านบาท    กำไรก่อนหักภาษีฯ 1489 ล้านบาท และกำไรสุทธิ  867 ล้านบาท   แบ่งเป็นรายได้จาก งาน Infrastructure   มากที่สุด 58.2%   ประกอบด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน   - ถนน - ทางด่วน *ทางยกระดับ และสะพาน  รองลงมางานด้าน Power & Energy 24.6 %  เช่น โรงไฟฟ้า โรงกลั่น

      ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรก ปี 2566  มีรายได้ 13,883 ล้านบาท   มีกำไรก่อนหักภาษีฯ 363 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 324 ล้านบาท

     จากการรวม "พรรครัฐบาล" แบบ "ประสานขั้วกันแบบชื่นมื่น" เพราะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกันลงตัวจนพร้อมประกาศ 1 ก.ย. 2566 ก่อนทูลเกล้าฯ น่าจะเป็นการกลับมาสร้างกระแสแรงให้กับหุ้นก่อสร้าง อย่าง STEC

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์