9 เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนใน RMF/SSF/TESG  เครื่องมือสำคัญสำหรับวางแผนเกษียณและลดหย่อนภาษี

9 เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนใน RMF/SSF/TESG   เครื่องมือสำคัญสำหรับวางแผนเกษียณและลดหย่อนภาษี

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกๆท่าน เมื่อต้นสัปดาห์นี้ทางภาครัฐได้มีการประกาศเรื่องการลดหย่อนภาษีสำหรับกองทุนรวมประเภทใหม่ที่เรียกว่า “กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (TESG)”

วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดของกองทุนรวมทั้ง 3 แบบคือ RMF SSF และ TESG 

1. ทั้ง RMF และ SSF และ TESG ต่างเป็นกองทุนรวม นั่นคือเมื่อเรานำเงินมาลงทุนเท่ากับว่าเราได้ลงทุนผ่านกองทุนที่เราซื้อ ซึ่งกองทุนรวมนั้นจะนำเงินของเรารวมถึงของคนอื่นที่ลงทุนในกองทุนนี้เหมือนเราไปลงทุนตาม “นโยบาย” ของแต่ละกองทุน

2. กองทุน RMF/SSF นั้นมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน นโยบายของกองทุนจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบและวิธีบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนจะนำเงินของเราไปลงทุน เช่น กองทุนรวมตลาดเงินไทยและต่างประเทศ กองทุนรวมตราสารหนี้ไทย และต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นไทยและต่างประเทศ กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ กองทุน RMF และ SSF นั้นเราสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายนโยบาย

ในขณะที่กองทุน TESG นั้นเน้นลงทุนที่ “ตลาดหุ้นไทย” โดยจะเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เน้นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนในสังคม และหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเข้าใจในนโยบายและคุณลักษณะของผลตอบแทนและความเสี่ยงแต่ละแบบก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน

3. หากต้องการผลตอบแทนที่สูงจากกองทุน ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น แน่นอนว่าใครๆก็ปรารถนาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเพื่อทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่มี “ของฟรี” ในโลก ผลตอบแทนทที่สูงก็จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย

4.กระจายการลงทุนในกองทุนทั้ง 3 หากจะนับว่าโลกการลงทุนนี้มี “ของฟรี” อยู่ก็คงเป็นเรื่องของ “การกระจายความเสี่ยง”ดังนั้นเราจึงควรใช้ “ของฟรี” นี้โดยการกระจายการลงทุนในกองทุนทั้ง 3 แบบ ที่มีความแตกต่างกันในด้านของนโยบายลงทุนและเมื่อทราบว่ากองทุน TESG เน้นลงทุนที่หุ้นไทยเป็นหลัก ก็ควรลดสัดส่วนกองทุนหุ้นไทยของ RMF/SSF ลง

5. การลงทุนใน RMF/SSF/TESG เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับเงินลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับสภาพคล่อง โดยRMF ต้องลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่วน SSF นั้นต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยไม่กำหนดเงื่อนไขอายุ ในขณะที่ TESG นั้นต้องลงทุนไม่น้อยกว่า “8 ปี”

6.จำนวนเงินที่ลงทุนได้สูงสุดของ RMF/SSF/TESG RMF เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ จึงกำหนดวงเงินสูงสุดสำหรับการ “ลดหย่อนภาษี” ไว้ที่ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ในขณะที่ SSF กำหนดไว้ที่ ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน TESG นั้นลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 100,000 บาท เดิมการลงทุนในกองทุนทั้ง 2 เมื่อรวมกับการลงทุนใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้นเมื่อรวมกองทุน TESG เข้ามาก็จะกลายเป็นไม่เกิน “600,000 บาท” 

7. เราสามารถใช้ RMF หรือ SSF และ TESG เพื่อวางแผนเกษียณ  โดยทำตามขั้นตอนเดียวกับการวางแผนเกษียณคือ กำหนดเป้าหมายเกษียณ กำหนดผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง จัดพอร์ตการลงทุนตามผลตอบแทนและความเสี่ยง

คำนวณเงินลงทุนรายเดือนหรือรายปีที่สอดคล้องกับเป้าหมายลงทุนตามแผนที่วางเอาไว้ ประเมินผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอและพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและเป้าหมาย

8.เราสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนใน RMF/SSF และ TESG ของเราได้ แต่โดยปกติการปรับพอร์ตภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกันจะทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากต้องการปรับเปลี่ยนพอร์ตบ่อยครั้ง การพิจารณาเลือก บลจ หรือผู้ให้บริการที่มีกองทุนที่มีประสิทธิภาพดีโดยเฉลี่ยและมีประเภทกองทุนให้เลือกหลากหลายจะทำได้ง่ายกว่า

9.เราสามารถลงทุนในกองทุน RMF/SSF และ TESG แบบง่ายๆ โดยการให้ทางบริษัทที่ดูแลด้านการลงทุนหรือวางแผนเกษียณให้กับเราทำการ “ตัดเงินลงทุนแบบอัตโนมัติทุกเดือน”เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้การลงทุนเพื่อทำตามแผนเกษียณเป็นเรื่องง่ายๆ

กองทุนรวมทั้ง 3 แบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราลงทุนเพื่อบรรลุแผนเกษียณได้และยังได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ลองเรียนรู้และศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด

ท้ายสุดนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีและมีความสุขกับการลงทุน