กลุ่ม JMART ร่วงแรง ‘ไร้ปัจจัย’ หรือ ‘แรงชอร์ตกระหน่ำ‘

กลุ่ม JMART ร่วงแรง  ‘ไร้ปัจจัย’ หรือ ‘แรงชอร์ตกระหน่ำ‘

หุ้นกลาง – หุ้นเล็ก ราคานิวโลว์รายวัน แม้จะเข้าสู่รายการงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลายบริษัทงบดีตามคาด และเกินคาดกลับกลายเป็นการขายจนเกิดภาวะวิตกยังมีปัจจัยลบที่ไม่เปิดเผยอีกหรือไม่ ซึ่งมีหุ้นที่เผชิญแรงขายดังกล่าวอย่าง “กลุ่มเจมาร์ท “

          บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART  บริษัทแม่ของ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT , บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER  ,บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC   และบริษัท  เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J

        ราคาหุ้นที่ร่วงหนัก และต่อเนื่องเริ่มจุดพลุตั้งแต่กลุ่ม ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ ลามไปยัง ‘งบการเงิน’ ติดตัวแดง การเติบโตชะงัก และอาจจะลามไปยังสถานะการเงินในอนาคต  และไล่กระทบเกือบทั้งกลุ่ม "เจมาร์ท"

         จากงบการเงินของ SCG ที่พลิกขาดทุน และมีสัญญาณหนี้เสีย – ข้อสงสัยว่าสินค้าคงคลังไม่ตรงกับยอดขาย ลามไปยัง SINGER จนมีการปรับฐานกำไร และราคาหุ้นตามมาพากระทบราคาหุ้น JMART  

        ถัดมายังเกิดเหตุการณ์ผู้ถือหุ้น “corner แตก “  กระหึ่มตลาดหุ้นไทย หลังหุ้น JMART เจอ Margin Call หรือเรียกหลักประกันเพิ่มเติมหลังราคาร่วงลงต่ำ และหากไม่พอต้องถูกบังคับขาย หรือ Force Sell ตามมาอีกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นหลุดระดับ 30 บาท

         โดยเป็นการออกมาชี้แจง  "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” เจ้าของ และผู้บริหารขายหุ้น Big Lot  รวมกับภรรยาจำนวนรวม 54 ล้านหุ้น ให้กับกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งหมด จาก Margin Call  สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาของผู้ถือหุ้นรายใหญ่แต่ไม่ได้เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน

 เมื่อมุมมองในหุ้นเริ่มถูกปรับคาดการณ์กำไรปีนี้ลดลง   และเพิ่มความกังวลการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่ตามหลอกหลอนนักลงทุนจากกรณีหุ้น STARK  ที่สร้างลูกหนี้ – เจ้าหนี้การค้า ที่มีไม่อยู่จริงขึ้นมาเพื่อตกแต่งบัญชี

  กลุ่ม JMART ร่วงแรง  ‘ไร้ปัจจัย’ หรือ ‘แรงชอร์ตกระหน่ำ‘

       ดังนั้นหุ้นที่วางเป็นกลุ่มยอดนิยมลงทุนของรายย่อย – รายใหญ่ และ Market Marker  จึงวงแตกหาทางทยอยเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้น JMART ปี 2565 ปิดที่ 40.75  บาท ลงมาอยู่ที่  14.12 บาท (14 พ.ย.66) รวมทั้งหุ้น JMT ที่ถูกมองว่าเป็นหุ้นกำไรเติบโตดีถูกเทขาย – ไล่เอากำไรผสมแพนิกเซลล์ จากราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่  70 บาท มาอยู่ที่  24.40 บาท (14 พ.ย.66)

          นอกจากการเทขายปกติแล้วการใช้เครื่องมือ Short sell อีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำโอกาสให้กับนักลงทุนยิ่งภาวะตลาดหุ้นไร้สภาพคล่อง – ปัจจัยการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน – กำไร บจ. เพิ่มขึ้นกระจุกในบางกลุ่มธุรกิจ ไม่นับรวมปัจจัยเฉพาะหุ้นที่ประเด็นผิดนัดชำระหนี้ – เบี้ยวหนี้ปะทุมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีกลไกดูแลนักลงทุนดีพอ เกิดการ Short sell ตามมา

         JMART – JMT เป็นหุ้นที่มีธุรกรรม Short  sell ไม่แตกต่างหุ้นอื่นแต่เทียบปริมาณ และมูลค่าถือว่าเป็นกลุ่มลำดับต้นๆ ที่มีธุรกรรมจำนวนมาก  เดือนต.ค. JMART ที่ 17.46 ล้านหุ้น มูลค่า 355 ล้านบาท JMART-R   หรือผ่าน NVDR 14.40 ล้านหุ้น  มูลค่า 303 ล้านบาท  ราคาหุ้นร่วงเดือนนั้นจาก 23.10 บาท อยู่ที่ 16.40 บาทลดลง 29%

      JMT เดือนต.ค. ที่ 18.73 ล้านหุ้น มูลค่า 719 ล้านบาท JMT-R   หรือผ่าน NVDR 9.40 ล้านหุ้น  มูลค่า 375 ล้านบาท  ราคาหุ้นร่วงเดือนนั้น จาก 48.50 บาท อยู่ที่ 29.50 บาทลดลง 39.17%  

      กลไกตลาดหุ้นในไทย และอีกหลายประเทศ เปิดให้มีการ Short sell   แต่ช่วงที่ผ่านมาปรากฏการณ์กังขาเครื่องมือดังกล่าวเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างต่างชาติ – รายใหญ่ และรายย่อย ที่มีเม็ดเงินไม่เท่ากัน  ด้วยการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งประเภท  High-Frequency Trading (HFT) และ Robot Trade ทำการ Short sell แบบไร้ลิมิตจนราคาหุ้นลงนิวโลว์อยู่แล้ว และรับข่าวผลกระทบยังลงนิวโลว์ได้อีกแบบไร้เหตุผล

       ดังนั้นหากเป็นหุ้นที่ยังมีพื้นฐานที่ความกังวลใจจากนักลงทุนผสมกับตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะขาลง  ไร้ความเชื่อมั่น ขาดสภาพคล่อง บรรดาหุ้นเหล่านี้หนีไม่พ้นเผชิญกดราคาเทขายเพื่อทำกำไรกลุ่มเก็งกำไรในตลาดหุ้น

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์