งบการเงินไตรมาส 3/66 SINGER ตัวเฉลยดึง ‘กลุ่มJMART’ รุ่ง หรือ ร่วง

งบการเงินไตรมาส 3/66 SINGER ตัวเฉลยดึง ‘กลุ่มJMART’ รุ่ง หรือ ร่วง

“กลุ่ม JMART” ถูกนักลงทุนคาดหวังบนผลประกอบการกลับมาเติบโต “โดดเด่น” อีกครั้ง ! แต่วันนี้ !! สัญญาณฟื้นไข้... ยังไม่ชัดนัก จับตาผลงาน “ซิงเกอร์” ไตรมาส 3 ปี 66 ตัวเฉลยอนาคต “รุ่ง หรือ ร่วง” ด้านโมเดลลงทุน “พันธมิตร” อาจยังไม่ใช่จังหวะสร้าง “ผลตอบแทน” ที่ดี เหตุตลาดทุนผันผวน !

ใกล้เข้ามาแล้ว ! การประกาศผลประกอบการของ “บริษัทจดทะเบียนไทย” (บจ.) ประจำไตรมาส 3 ปี 2566 และงวด 9 เดือนปี 2566 หลังสัปดาห์ที่ผ่านมางบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยออกมากันครบแล้ว ซึ่งต่อไปก็จะเป็น เหล่าบจ. ต่างๆ และหนึ่งในนั้นที่นักลงทุนกำลังจับตาและรอดูผลดำเนินงานคือ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER

หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 ของ SINGER รายงานตัวเลขที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังหนัก !! สะท้อนผ่าน “ขาดทุนสุทธิ” 2,395.97 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี “กำไรสุทธิ” 265.41 ล้านบาท และงวด 6 เดือนขาดทุนสุทธิ 2,329.34 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 480.83 ล้านบาท โดยการขาดทุนหนักไตรมาส 2 ปี 66 ของ SINGER สาเหตุหลักๆ เกิดจากการการตั้งสำรองค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือ และผลกระทบจากโควิด-19 !!  

โดยการขาดทุนของ SINGER ไม่ได้เจ็บแค่คนเดียว แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือน “ดึง” บริษัทแม่อย่าง บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 25.20% (ตัวเลข ณ 8 พ.ค. 2566) ให้ร่วมเจ็บตัวไปด้วยกัน !!  

สะท้อนผ่าน JMART รายงานตัวเลขผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 611.22 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 389.41 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปี 2566 ขาดทุนสุทธิ จำนวน 905.95 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนกำไรสุทธิ 717.52 ล้านบาท 

ไม่อาจรู้ได้ว่าผลดำเนินงาน SINGER นั้นผ่านพ้น “จุดต่ำสุด” ไปแล้วเรื่อง “จริง” หรือ “เท็จ” อันนี้คงต้องรอตัวเลขเฉลยในไตรมาส 3 ปี 2566 แม้ก่อนหน้านี้ระดับผู้บริหารของ SINGER ออกโรงย้ำความมั่นใจ “เราไม่มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่แล้ว !!” ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาคือจุดต่ำสุดของ SINGER และปัจจุบันพร้อมเดินหน้าแก้สารพัดปัญหารุมเร้า เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์ รวมทั้งเร่งควบคุมการอนุมัติสินเชื่ออย่างรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น...

SINER เคยเป็นหนึ่งบริษัทแห่งความหวังในเครือของ “เจมาร์ท” ที่เป็นจิ๊กซอว์เข้ามาเติมเต็มให้ธุรกิจค้าปลีก (รีเทล) และผลดำเนินงานที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระดับ 20-30% มาต่อเนื่อง แต่มาวันนี้กลับพลิกเป็นขาดทุน

ดังนั้น นี่อาจเป็นช่วงเวลา “ไม่สดใสของเครือเจมาร์ท” คงไม่ผิดนัก !! เพราะทั้ง “ผลงาน & ราคาหุ้น” ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยความเปราะบาง หากย้อนดูตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาหุ้น JMART เคยขึ้นไปทำ “จุดสูงสุด” ที่ 63.50 บาท (ณ วันที่ 13 ม.ค. 2566) และปรับตัวลงทำ “จุดต่ำสุด” ที่ 13.10 บาท (26 มิ.ย.2566)  ดังนั้นระหว่างทางหุ้น JMART เคยร่วงลงไปลึกกว่า 79.37%    

ขณะที่ ล่าสุดราคาหุ้น JMART ยังอยู่ในวังวน “ย้ำอยู่กับที่ !!” ในช่วงกรอบราคา 18-22 บาท โดยยังไม่อาจไปไกลได้มากกว่านี้ ! อาจเพราะราคาหุ้น JMART ส่วนใหญ่เป็นราคาบนความคาดหวังของผลประกอบการในอนาคต ดังนั้น หากผลประกอบการยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน หุ้น JMART ก็ยังคงถูกกดดันต่อไป...  ดังนั้น การกลับไปยืนราคาสูงสุดที่เคยทำได้ที่ 64 บาท (ณ วันที่ 12 เม.ย. 2565) อาจต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อย เพราะต้องสะสางและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนอยู่ !

JMART เป็นบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี หรือประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น โดยธุรกิจหลักคือ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอีก “4 บริษัท” ประกอบด้วย บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT , บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J , บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER และล่าสุดคือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC  

หากย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาณาจักรเจมาร์ทของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีสตอรี่การเติบโตโดดเด่น จนอาณาจักรเจมาร์ทเคยมีตัวเลขมูลค่ากิจการสูงถึงระดับแตะ “แสนล้านบาท” บ่งชี้ผ่านความสำเร็จด้วยโมเดล “ผนึกพันธมิตร” ทางธุรกิจทั้งบริษัทในเครือ และผ่านการซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัทเป้าหมายหลาย ๆ แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

ทว่ามาวันนี้ ! โมเดลการผนึกพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ผ่านการซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัทเป้าหมายหลาย ๆ แห่งนั้น อาจจะไม่ใช่จังหวะที่เข้ามาหนุนให้ผลดำเนินงานเติบโต แต่อาจจะกลายเป็นการแบกผลกระทบหากบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีผลดำเนินงาน “ชะลอตัว” และราคาหุ้น “ลดลง” โดยเฉพาะในภาวะตลาดทุนที่เป็น “ลบ !”

การเติบโตของกำไรจากธุรกิจหลัก “ไม่น่าตื่นเต้น”  

              รู้ๆ กันว่าอาณาจักรเจมาร์ทมีบริษัทในเครือที่เป็นลูกรักสร้างผลกำไรให้บริษัทแม่ทุกๆ ปี คงต้องยกให้ JMT ธุรกิจบริหารหนี้ภายใต้การบริหารของ JMT จะยังเป็นหัวหอกในการสร้างกำไร และเติบโตกว่าที่คิด โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 433.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสที่สูงสุด ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,004.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 800.27 ล้านบาท

              ด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ JAS ASSET ถือว่าอยู่ระหว่างการลงทุนเพื่อรอการเก็บเกี่ยว ดังนั้น ช่วงระหว่างการลงทุนผลดำเนินงานยังไม่สดใสมากนัก โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พลิกขาดทุนสุทธิ 17.12 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 46.30 ล้านบาท โดยงวด 6 เดือนปี 2566 มีกำไรสุทธิ 5.36 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 58.93 ล้านบาท

              ส่วนบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) บริษัทในกลุ่ม SINGER ซึ่งรายงานผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,919 ล้านบาท และรอบ 6 เดือนปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,287 ล้านบาทหลังจากนี้บริษัทกลับมาเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องและมีการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังเพื่อรองรับคุณภาพของสินเชื่อภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวเฉพาะส่วน

“เจมาร์ท” ลงทุนในธุรกิจใหม่ !

กลุ่มบริษัทที่เจมาร์ทเข้าลงทุนใหม่ (New Investment)  1. บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (สุกี้ ตี๋น้อย หรือ Teenoi) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นในสัดส่วน 30% โดยไตรมาส 2 ปี 2566 สุกี้น้อยมีกำไรสุทธิ 212 ล้านบาท

2. บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้นสัดส่วน 9.45%  ซึ่งปัจจุบัน BRR ได้มีพัฒนาในการทำ Synergy อย่างต่อเนื่องกับกลุ่มบริษัท ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า บุรีรัมย์ โมเดลโดย JMART ซื้อหุ้น BRR ราคาเฉลี่ย 4.85 บาท โดยล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ 5.25 บาท (17 ต.ค.) “ผลตอบแทน” ยังบวก 8.24% ขณะที่ BRR  

3. บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRTR เป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้นสัดส่วน 15% โดยปัจจุบันบริษัท และ PRTR อยู่ระหว่างการพัฒนาแผนธุรกิจร่วมกันในการจัดหำทรัพยากรบุคคล และการผลักดันการขายด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานขายร่วมกัน ซึ่งจะสร้างศักยภาพของทีมขายของบริษัทในอนาคต โดย JMART เข้าซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 7.20 บาท โดยล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ 6.35 บาท (17 ต.ค.) ผลตอบแทน “ติดลบ 11.80%”

4.บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน) หรือ TURTLE (หรือเดิม NINE) เป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้นสัดส่วน 9.82% ซึ่งกลุ่มบริษัทเจมาร์ท โดยบริษัท เจมาร์ท โมบาย ได้เข้าไปเปิดร้านเพื่อดำเนินการขายสินค้าบนสถานี BTS จำนวนกว่า 11 สถานีแล้ว ในสถานที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 7.45 บาท

5.บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้นสัดส่วน 4.46% บริษัทได้เข้าลงทุนในบริษัท SGC จากการได้รับสิทธิในการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น จากการ Spin Off บริษัทย่อยของ SINGER โดยปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 1.50 บาท จากราคาไอพีโอ 3.90 บาท ดังนั้น หากคิดจากราคาไอพีโอผลตอบแทนจะ “ติดลบ 61.53% ” และมีผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ 1,919 ล้านบาท  และรอบ 6 เดือนปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,287 ล้านบาท

และ 6. บริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD เป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้นสัดส่วน 9.29% มอง่ามีโอกาสในการทำ Synergy ในด้านธุรกิจร่วมกันในอนาคต เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน หรือการร่วมกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายประเภท NPA โดย JMART เข้าซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 2.16 บาท โดยล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ 1.69 บาท (17 ต.ค.) ผลตอบแทน “ติดลบ 21.75%”