‘ThaiBMA’เกาะติดหุ้นกู้ไฮยิลด์ สแกน‘รายตัว’ ป้องเหตุผิดนัดชำระหนี้

‘ThaiBMA’เกาะติดหุ้นกู้ไฮยิลด์  สแกน‘รายตัว’ ป้องเหตุผิดนัดชำระหนี้

ThaiBMA จับตา “หุ้นกู้ไฮยิลด์” ครบกำหนด 3 เดือนข้างหน้าเป็นพิเศษ จี้ 'แผนสำรอง-เตือนนักลงทุน' ป้องเหตุผิดนัดชำระหนี้ พร้อมศึกษาเปิดข้อมูลความเสี่ยงเพิ่ม เชื่อสถานการณ์ตลาดดีขึ้น เผยปัจจุบันมีบริษัทเสนอขาย-ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นกู้อีกราว3แสนล้าน

นางสาวอริยา ติรณประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ยังทรงตัว  โดยหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ได้นั้น ยังคงเป็นหุ้นกู้กลุ่มไฮยิลด์ ที่ไม่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง บางบริษัทที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีการขยายกิจการเร็วเกินไป และมีผลการดำเนินงานติดลบต่อเนื่อง    

โดยทำให้นักลงทุนพิจารณาคัดเลือกลงทุนหุ้นกู้กลุ่มนี้มากขึ้นในช่วงนี้  ซึ่งหุ้นกู้ไฮยิลด์บางตัวที่ออกเสนอขายช่วงนี้ ยังคงได้รับความสนใจ แต่นักลงทุนจะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นกู้ไฮยิลด์ของบริษัทที่มีประวัติผู้บริหารเชื่อถือได้ ธุรกิจมีผลการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน และมีหนี้สินน้อยกว่าทรัพย์สิน 

‘ThaiBMA’เกาะติดหุ้นกู้ไฮยิลด์  สแกน‘รายตัว’ ป้องเหตุผิดนัดชำระหนี้

ขณะเดียวกัน สมาคมฯ มีการเข้าไปติดตามหุ้นกู้ที่จะมีดีลครบกำหนดในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะต้องจับตาเป็นพิเศษเป็นรายธุรกิจ โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่มไฮยิลด์ว่า ธุรกิจมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ หรือจะมีแผนสำรอง เช่น เตรียมวงเงินสำรอง เพื่อการชำระหนี้หุ้นกู้ได้อย่างไรต่อไป เพื่อเตรียมเรียกเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ขออนุมัติแผนดังกล่าวไว้ก่อนที่หุ้นกู้จะครบดีล เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์หุ้นที่จะครบกำหนดและออกเสนอขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม(โรโอเวอร์) ในเดือนต.ค.นี้ มองว่ายังไม่น่ากังวล เพราะว่าที่ครบกำหนดส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ของธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น บมจ.แสนสิริ (SIRI), บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH) ,บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) และ บมจ.อมตะคอร์ปอเรชัน (AMATA)  ฯลฯ

ทั้งนี้ หากเป็นหุ้นกู้โรโอเวอร์กลุ่มNon-Rated หรือ หุ้นกู้ไฮยิลด์จส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นที่รู้จัก คาดว่าจะไม่กระทบกับการโรลโอเวอร์หุ้นกู้ แต่จะมีบางส่วนเป็นบริษัทไม่ได้จดทะเบียนในตลาดฯคงต้องหาแหล่งเงินอื่นๆ เช่น เงินกู้สถาบันการเงิน หรือชะลอการออกเสนอขายหุ้นกู้ไปก่อน

นางสาวอริยา กล่าวว่า  ส่วนหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งและหุ้นกู้ระดับลงทุนได้นั้น เชื่อว่าจะไม่ได้มีปัญหาจากผลกระทบดังกล่าว ส่งให้ปัจจุบันมียอดออกหุ้นกู้ 737,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้ยังมียอดออกหุ้นกู้เติบโตได้ตามแผนที่1 ล้านล้านบาท  น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้   และคาดว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้หลังจากนี้ คาดหวังว่าจะปรับตัวดีขึ้น

 "ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีหุ้นกู้อีกรายตัวที่อยู่ระหว่างการเสนอขายและไฟลิ่งต่อก.ล.ต. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ รวมแล้วน่าจะถึง 300,000 ล้านบาทได้   เช่น บมจ. พลังงานบริสุทธิ์(EA ) ,บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ,  บมจ.ผลิตไฟฟ้า( EGCO)"  

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ  ก.ล.ต. และหน่วยงานต่างๆในตลาดทุนไทย กำลังอยู่ระหว่างหารือกันว่า จะสามารถเปิดเผยข้อมูลสรุปความเสี่ยงอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจและเห็นได้ง่ายขึ้น  เช่น ข้อมูลที่มาของรายได้ การชำระหนี้  อัตราส่วนของหนี้ กระแสเงินสดและสภาพคล่อง เป็นต้น    

 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า  หลังจากที่ เฟทโก้ ประชุมภายในนัดสุดท้ายประจำเดือนของเดือนก.ย.ในวันที่ 25 ก.ย.2566 ทาง FETCO และสมาชิกทั้ง 7 องค์กร เตรียมเข้าขอพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่าประมาณกลางเดือนต.ค.เพื่อหารือใน 2-3 เรื่องสำคัญในการผลักดันให้ตลาดทุนไทยเติบโตยั่งยืนอย่างมีศักยภาพ

ทั้งนี้ ได้แก่ 1. แนวทางการจัดตั้งกองทุนประหยัดภาษีใหม่ ที่จะมาทดแทนกองทุนเพื่อการออม (SSF) ที่จะหมดอายุลง เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์และจูงใจประชาชนให้หันมาออมเงินและลงทุนมากขึ้น  2.เพิ่มบทลงโทษรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ที่ทำการทุจริตผ่านตลาดทุนไทย เช่น หากพบคนโกงกระทำผิดให้จับมาลงโทษทันที และบทลงโทษต้องรุนแรงกว่าเดิมมากด้วยเช่นกัน รวมถึงนำเทคโนโลยีAIเข้ามาใช้ในการตรวจสอบการกระทำผิด ฯลฯ