‘โบรก’ เผยหุ้นกู้ CGD ส่อแวว ‘เสี่ยง’ แนะจับตาปัญหาสภาพคล่องในบริษัท

‘โบรก’ เผยหุ้นกู้ CGD ส่อแวว ‘เสี่ยง’ แนะจับตาปัญหาสภาพคล่องในบริษัท

‘โบรก’ เผยหุ้นกู้ CGD ส่อแวว ‘เสี่ยง’ แนะจับตาปัญหาสภาพคล่องในบริษัท หลังออกหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในรุ่น CGD219 A ที่จะครบกำหนดชำระ 6 ก.ย.66 และหุ้นกู้รุ่น CGD 20OA ครบกำหนด 19 ต.ค.66 มูลค่ารวม 669 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นออกไปอีก 1 ปี

กรณีหุ้นกู้ยังคงมีความร้อนแรง และเป็นประเด็นให้ต้องเกาะติดกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เกิดขึ้นกับ หุ้นกู้ STARK และ หุ้นกู้ ALL ล่าสุดกับกรณี บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD ได้ออกหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในรุ่น CGD219 A ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 6 ก.ย.66 และหุ้นกู้รุ่น CGD 20OA ครบกำหนด 19 ต.ค.2566 มูลค่ารวม 669 ล้านบาท เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นออกไปอีก 1 ปี ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ออกมาเตือนให้ผู้ถือหุ้นกู้ของ CGD ในทั้ง 2 รุ่นนี้ ไปใช้สิทธิประชุมผู้ถือหุ้นกู้ พร้อมทั้งศึกษาข้อมูล

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า หากย้อนกลับไปในอดีต CGD หรือ คันทรี่ กรุ๊ป มีการขอเลื่อนมาเป็นระยะตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และหลัง โควิด-19 เป็นบริษัทที่มีภาวะนี้มาก่อน ซึ่งมองมีความเสี่ยงอยู่

ทั้งนี้ หากเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับ หุ้น PACE หรือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรณีตึกมหานคร ที่มีการสร้างโปรเจคค่อนข้างใหญ่ ทำให้มีการจัดการเรื่องสภาพคล่องได้ไม่ดี ซึ่ง CGD เองก็เป็นกรณีเดียวกันหรือคล้ายกันที่มีการจัดการสภาพคล่องไม่ดี ซึ่งไม่ได้เหมือนกับหุ้น STARK ที่เจตนา ส่วน หุ้น ALL เป็นในส่วนกรณีของการจัดการบริหารไม่ดี 

อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนว่า ยังคงต้องระมัดระวังหุ้นกู้ CGD ที่ขาดสภาพคล่องภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งต้องจับตาดูว่า อาจจะออกมาตามรอย PACE หรือไม่ และขอย้ำว่า ปัญหาของ CGD มีมาตลอด แต่ที่ผ่านมามีการประวิงเวลามาได้เรื่อย ๆ ซึ่งต้องรอดูในรอบนี้จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ไปได้หรือไม่

ส่วนภาพรวมของหุ้นกู้ของภาคอสังหา มองว่า ในบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนมากจะได้รับ Cash Flow ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากโครงการแนวราบยังสามารถขายได้ โดยเฉพาะ LH SC หรือแม้แต่กระทั่ง SIRI ซึ่งจะมีแค่บางบริษัทที่มีปัญหาดั้งเดิมอยู่แล้วก่อนหน้า และเมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงทำให้เกิดปัญหาตามขึ้นมา ซึ่งมีไม่กี่บริษัท และส่วนใหญ่เป็นปัญหาเฉพาะตัวของบริษัท ที่มีปัญหามาตั้งนาน ไม่ใช่ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งนักลงทุนอาจจะต้องหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีปัญหา โดยเฉพาะบริษัทที่มีสตอรี่มาก่อนหน้านี้ เพราะอย่างไรแล้วไม่ช้าก็เร็วปัญหาดังกล่าวจะโผล่ออกมาให้เห็น 

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า CGD เป็นบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดการชะงัก และเกิดการสะดุดของการซื้อ และการพัฒนาโครงการ ส่งผลให้เกิดการช็อตกระแสเงินสดได้ เนื่องจากว่า เวลามีการพัฒนาโครงการเงินค่อนข้างที่จะไปจม

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับหุ้น ALL ต้องยอมรับว่า เมื่อเจอปัญหาในลักษณะเช่นนี้อาจจะมีความคล้ายกัน แต่ก็ขึ้นอยู่ว่า แต่ละบริษัทมีสายป่านในการรับสถานการณ์ดังกล่าวไปได้แค่ไหน ซึ่งหากมีโครงการใหญ่และดีพอ กรณีนี้อาจจะไม่ส่งผลให้มีการยกเลิก แต่หากว่าสายป่านไม่ยาวพอ เมื่อทำโครงการไปแล้ว ปรากฎว่า คนซื้อไม่มาก สุดท้ายไม่สามารถขึ้นโครงการได้ หรือขายได้แค่ 20 - 30% อาจจะต้องมีการยกเลิกการพัฒนาโครงการและต้องคืนเงินให้กับคนที่ซื้อ 

กรณีหุ้น ALL มีหลายโครงการที่ไม่สามารถขึ้นโครงการได้และต้องมีการคืนเงิน ส่งผลให้เงินจมจาการซื้อที่ดิน และยังพัฒนาโครงการไม่ได้ จึงทำให้มีภาระต้นทุน อัตราดอกเบี้ยที่ต้องคืน จึงเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมกำลังสอง ขณะที่กรณีของ CGD เท่าที่ดูโครงการมีศักยภาพ แต่พัฒนาโครงการได้ไม่เร็วพอ ทำให้เงินที่จะหมุนกลับเข้ามาไม่มากหรือไม่เร็วพอกับความต้องการที่จะต้องใช้ ส่งผลให้กระแสเงินสดมีการเลื่อนออกไปไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นปีหน้าที่กระแสเงินสดเข้ามา จึงทำให้มีการขออนุมัติในที่ประชุมจากผู้ถือหุ้นกู้ ส่วนข้อเสนอต่าง ๆ ที่นำมาประชุมนั้นยังคงต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีความวิตกกังวลกับกรณีหุ้นกู้ตั้งแต่ STARK  หรือ ALL อย่าเพิ่งประเมินหรือตัดสินว่าสถานการณ์จะเหมือนกัน เพราะว่า สถานการณ์หุ้นกู้แต่ละชุดมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ออกหุ้นกู้ทำธุรกิจอะไร มีการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพระดับไหน หรือมีสินทรัพย์อะไรที่มีอยู่ในมือบ้าง หากเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ พัฒนาโครงการไม่ได้ใหญ่ และขายได้ไม่ถึงจุดหรือเกณฑ์ จนไม่สามารถขึ้นโครงการได้ก็จะเป็นปัญหาที่เกิดความเสี่ยง เพราะต้องล้มโครงการ ซึ่งไม่ได้เป็นการชะลอของกระแสเงินสด แต่เป็นการหายไปของโครงการทั้งหมด ซึ่งทำให้มีภาระเกิดขึ้น แต่ไม่มีกระแสเงินสดในอนาคต แต่หากมีโครงการที่พัฒนาค่อนข้างใหญ่ มีทำเลที่คาดว่า น่าจะขึ้นโครงการได้ และเกิดการชะลอของโรคระบาด หรือสถานการณ์อื่น ซึ่งยังมีโอกาสที่จะพัฒนาโครงการได้ แต่ Cash Flow อาจจะเลื่อนออกไป ซึ่งที่ผ่านมาต้นเหตุของภาคอสังหาทั้งหมดมาจากโควิด-19 เกือบทั้งหมด แต่ว่า ศักยภาพของที่ดิน และโครงการแต่ละรายมีความแตกต่างกัน 

กรณีของ CGD หุ้นกู้หลายชุดที่ใกล้ถึงกำหนดรวม ๆ กันแล้วประมาณเกือบ 700 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วไม่ใช่แค่เงินก้อนนี้เท่านั้น เพราะยังมีเงินกู้จากสถาบันการเงินมีหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดภายใน 1 ปี ณ 30 มิ.ย.66 ที่ 2,779 ล้านบาท ฉะนั้นนับจากนี้ไปอีก 12 เดือนข้างหน้า CGD ต้องคืนเงิน 2,779 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้อยู่ว่าใน 2,779 ล้านบาท เป็นเงินจากหุ้นกู้เกือบ 700 ล้านบาท นั่นแสดงว่า เกือบอีก 2,000 กว่าล้านบาท จะเป็นหุ้นกู้สถาบันการเงิน หรืออาจจะมีจากอย่างอื่น ซึ่งถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน CGD มีเงินสดอยู่ประมาณ 1,979 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย.66) ซึ่งก็ยังไม่พอ และตั้งแต่โควิด-19 บริษัทมีการปรับแก้สถานการณ์มาระดับหนึ่ง หากย้อนไปดูหนี้สิ้นรวม ณ สิ้นปี 2563 ที่เกิดโควิด-19 อยู่ที่ 22,271 ล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ 13,305 ล้านบาท ซึ่งก็มีการปรับลดหนี้ลงมาตลอด ผลประกอบการเริ่มกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า เมื่อกระแสเงินสดเลื่อนออกไป แม้จะลดหนี้ไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่พอ จึงทำให้มีการขอเลื่อนหุ้นกู้ออกไป ซึ่งถือว่า ได้แสดงให้เห็นว่า ถึงความพยายามที่จะคืนเงิน แต่มีการติดขัดบางอย่าง 

สิ่งที่นักลงทุนจะต้องติดตาม ว่าบริษัทจะมีแผนอย่างไรเข้ามารองรับ ในเงินอีก 70% ที่ยังคืนไม่ได้ในวันนี้ ไปจนถึง 1 ปีข้างหน้าจะสามารถนำเงินจากที่ไหนมาคืนได้ หรือจากโครงการใดบ้างที่จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาได้บ้าง และถ้ามีการชี้แจงได้ค่อนข้างชัดเจนมากน้อยแค่ไหน