THAI ไตรมาส 2/66 กำไร 2.26 พันล้าน เหตุผู้โดยสารเพิ่ม - จ่อขายเครื่องบิน 26 ลำ

THAI ไตรมาส 2/66 กำไร 2.26 พันล้าน เหตุผู้โดยสารเพิ่ม - จ่อขายเครื่องบิน 26 ลำ

THAI ไตรมาส 2/66 กำไรสุทธิ 2.26 พันล้าน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3.22 พันล้าน เหตุผู้โดยสารเพิ่ม จ่อขายเครื่องบิน 26 ลำ พร้อมเตรียมรับมอบเครื่องบิน A350 - 900 จำนวน 2 ลำ เดือนส.ค.และก.ย. 66 คาดเริ่มบินได้ไตรมาส 4 ปีนี้ รองรับความต้องการเดินทางในช่วงไฮซีซั่น

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ  2,261.89 ล้านบาท  จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3,220.56 ล้านบาท  โดยสาเหตุหลักจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จำนวน 17,736 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้น 132.5% โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยม และมีจุดบินเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปีก่อน จำนวน 7 จุดบิน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง กวางเจา เฉิงตู ฮาเนดะ และฟุกุโอกะ

นอกจากนี้บริษัทมีรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้น  332 ล้านบาท หรือ 20.6% ซึ่งหน่วยธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารจากจำนวนผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น ยกเว้นรายได้จากธุรกิจคลังสินค้า หนุนครึ่งปีแรก 2566 มีกำไรสุทธิ  14,775.85 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 6,467.37  ล้านบาท 

โดย ณ 30 มิ.ย.2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 11.8 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 47.2% ปริมาณการขนส่ง ผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 93.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 60.3% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 3.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 66.7%

สําหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์(ADTK) สูงกว่าปีก่อน 49.9% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์(RFTK) สูงกว่าปีก่อน 10.9% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์(Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ  51.1% ขณะที่ปีก่อนเฉลี่ย 69.0%

อย่างไรก็ตาม มีเครื่องบินที่จอดระยะยาวจำนวน  7 ลำ  และมีเครื่องบินที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จำหน่าย ซึ่งบริษัท และผู้ซื้ออยู่ระหว่างจัดทำสัญญา และตรวจสอบทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 26 ลำ 

ขณะที่การบินไทย มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 49,595 ล้านบาท ณ วันที่  30 มิ.ย.2566 ซึ่งเป็นการติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.2565 จำนวน  13,898 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท 

สําหรับในปี 2566 IATA คาดการณ์อุตสาหกรรมการบินเติบโตต่อเนื่อง จากการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด และต้นทุนน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน  ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนไทยคาดการณ์อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในภาพรวมจะมีจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดได้ในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าเส้นทางในประเทศจะฟื้นตัวก่อนในปี 2567 ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศฟื้นตัวในปี 2568 ภายใต้สมมติฐานในกรณีท่าอากาศยาน และสายการบินสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการภาคพื้น และได้รับการจัดสรรการบินเพิ่มเติมได้ในตารางบินฤดูหนาวได้บางส่วนในเดือนมิ.ย.- ต.ค.2566

ทั้งนี้จากปัจจัยข้างต้นบริษัทจึงบริหารจัดการ และปรับปรุงฝูงบินโดยจัดหาเครื่องบินแบบ A350-900
จำนวน 2 ลำ ที่คาดว่าจะรับมอบในเดือนส.ค.และก.ย.2566
และเริ่มปฏิบัติการบินในไตรมาส 4  ในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการเดินทางในช่วงไฮซีซั่น และปริมาณผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศของจีน

นอกจากนี้บริษัทได้กำหนดกรอบเวลาเริ่มดำเนินการตามแนวทางการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินไว้ตั้งแต่เดือนก.ค.2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการทรัพยากรอันได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการฝูงบินให้มีการนำอากาศยานที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์สูงสุด ในส่วนของเครื่องบินแบบA320-200 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการจากบริษัท และเครื่องบินอื่นๆ ในฝูงบินของบริษัทที่มีอยู่ปัจจุบัน และจะจัดหาเพิ่มเติมในอนาคต 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์