เปิดสาเหตุทำไม Fitch Ratings หั่นเครดิตสหรัฐเหลือ AA+ แล้วมีนัยอะไรบ้าง ?

เปิดสาเหตุทำไม Fitch Ratings หั่นเครดิตสหรัฐเหลือ AA+ แล้วมีนัยอะไรบ้าง ?

เปิดสาเหตุทำไม ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดเครดิตสหรัฐจาก AAA ลงเหลือ AA+ แล้วการปรับลดอันดับครั้งนี้หมายความว่าอย่างไร ท่ามกลางมูดี้ส์ ที่ยังคงระดับเครดิตสหรัฐไว้ในระดับสูง

ชาวอเมริกันโดยทั่วไปต่างคาดหวังที่จะเป็น “ที่หนึ่ง” ในทุกด้าน ดังนั้นการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศเป็นครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ก็สั่นสะเทือน “ความภาคภูมิใจ” ของประเทศ และสั่นสะเทือนระบบการเงินโลกไปพร้อมกัน โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐจากระดับสูงสุด AAA มาอยู่ที่ AA+ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.66 ที่ผ่านมา และข้อเท็จจริงด้านล่างนี้คือ คำถามที่หลายคนสงสัย

1. ทำไมฟิทช์ เรทติ้งส์ ดาวน์เกรด สหรัฐ

หลังจากการปรับลดดังกล่าว ฟิทช์ เปิดเผยว่า การปรับลดระดับหนึ่งขั้นเป็นระดับ AA+ สะท้อนให้เห็นถึง “การพังทลายของธรรมาภิบาล” ที่ "แสดงออกผ่านความขัดแย้งในเรื่องการกู้ยืม (Debt Limit Standoffs) และการแก้ปัญหาเพดานหนี้ในนาทีสุดท้าย"

 

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากหนี้สาธารณะของสหรัฐเติบโตอย่างน่ากังวล จนใกล้กับวงเงินหนี้เกือบ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ และนักการเมืองโต้เถียงกันจนนาทีสุดท้ายกว่าจะผ่านเพดานหนี้ได้

 

และแม้ว่าความขัดแย้งได้รับการแก้ไขในปลายเดือนพ.ค. แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทําให้เกิดความไม่แน่นอน และความปั่นป่วนมหาศาลจากการที่ไม่สามารถตกลงกันได้ และใช้ “วิกฤติเพดานหนี้” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

2. ระดับเครดิต AA+ หมายความว่าอย่างไร 

อันดับเครดิต AA+ ต่ำกว่า AAA หนึ่งระดับ หมายความว่าสหรัฐไม่มีสิ่งที่ฟิทช์นิยามว่าเป็น “คุณภาพเครดิตสูงสุด” หรือ The Highest Credit Quality อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน ฟิทช์ เปิดเผยว่า การจัดอันดับ AA หมายถึง "ความคาดหวังของความเสี่ยงผิดนัดชําระหนี้ที่ต่ำมาก"  หรือ Expectations of Very Low Default Risk นั่นเป็นระดับที่ลดลงจาก “ความคาดหวังในการผิดนัดชําระหนี้ต่ำที่สุด” หรือ The Lowest Expectation of Default Risk สําหรับผู้กู้ระดับ AAA

3. พันธบัตรรัฐบาลได้รับการจัดอันดับอย่างไร?

โดยทั่วไป บริษัทจัดอันดับจะประเมิน “ความแข็งแกร่งทางการเงิน” ของผู้ออกตราสารรวมถึงรัฐบาล และให้คะแนนเครดิตจัดอันดับความสามารถในการชําระหนี้ 

ซึ่งนักลงทุนมักพึ่งพาการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวในการซื้อพันธบัตร ที่สำคัญการประเมินของบริษัทจัดอันดับเหล่านี้มีบทบาทในการกําหนดจํานวนดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่ายเพื่อระดมทุนในตลาดทุนด้วย

ล่าสุด เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในแถลงการณ์หลังการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว

 "เป็นไปตามอําเภอใจ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ล้าสมัย" และจะไม่เปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อหนี้รัฐบาลสหรัฐ

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 9 เดือน ก่อนที่อันดับเครดิตจะถูกตัดเนื่องจากสหรัฐจ่อเพิ่มยอดขายพันธบัตรเพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณที่ขยายตัว

4. การลดอันดับเครดิตมีความหมายต่อตลาดอย่างไร?

เมื่อเอสแอนด์พี  (S&P) ปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐในปี 2554 ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงเวลาที่ยุโรปอยู่ท่ามกลางวิกฤติหนี้ขนาดใหญ่ในภูมิภาค หรือ European Debt Crisis

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นบรรดานักวิเคราะห์ยังมองว่าการปรับลดเครดิตมีผลกระทบระยะยาวในวงจำกัดเพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ยังเทเงินลงในสินทรัพย์ของสหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงภายในสิ้นปีส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งในขณะที่สหภาพยุโรปกําลังดิ้นรนเพื่อปกป้องสถานะของสกุลเงินตัวเอง

 

โดยคราวนี้ตลาดการเงินยังกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ แต่จุดสนใจ “ที่โดดเด่นกว่า” อยู่ที่วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงที่สุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรอบหลายทศวรรษเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ 

จากประเด็นนี้ บรรดานักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) มองว่า สิ่งที่เฟดกระทำอาจจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยมากกว่าการปรับลดอันดับเครดิตของฟิทช์เสียอีก เพราะปัจจุบันมูดี้ส์ก็ยังคงกําหนดให้สหรัฐได้รับการจัดอันดับสูงสุด 

อย่างไรก็ตาม  นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า การที่สหรัฐถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งในครั้งนี้ มีความน่ากังวลใน 2 ประเด็นคือ 

  1. จากการปรับลดอันดับเครดิตนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงถึง 100% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ดังนั้นหากเกิดวิกฤติอีกในอนาคตอาจเป็นเรื่องยากที่จะกู้เพิ่ม ท่ามกลางอันดับเครดิตที่ลดลง
  2. ประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพาดอลลาร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอย่างจีนอาจใช้ข้ออ้างนี้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมามหาศาลจนกระทบต่อราคาพันธบัตรสหรัฐทั่วโลก เนื่องจากกังวลว่าสหรัฐจะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในสงครามเช่นเดียวกันที่ระงับการถอนเงินดอลลาร์จากรัสเซีย  

นอกจากนี้ นายจิติพล ยังเน้นย้ำว่ามีโอกาสมากถึง 70% ที่มูดี้ส์ จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงตามเอสแอนด์พีที่เคยลดไปในปี 2554 และฟิทช์ที่เพิ่งลดลงไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 

5. อันดับเครดิตของประเทศอื่นเป็นอย่างไรบ้าง

ท่ามกลางการปรับตัวเครดิตของสหรัฐ ทว่าออสเตรเลีย เยอรมนี สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในเกณฑ์ระดับสูงเหนือกว่าสหรัฐ โดยฟิทช์ยังให้คะแนนแคนาดาที่ AA+ ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอยู่ที่ระดับ A+ 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์