ดีเอสไอ ออกหมายจับ 'ชนินทร์ เย็นสุดใจ' คดี STARK หลังการข่าวหนีออกนอกปท.

ดีเอสไอ ออกหมายจับ 'ชนินทร์ เย็นสุดใจ' คดี STARK หลังการข่าวหนีออกนอกปท.

ด่วน ดีเอสไอ ออกหมายจับ 'ชนินทร์ เย็นสุดใจ' คดี STARK หลังการข่าวหนีออกนอกประเทศ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ออกหมายจับ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังพบการข่าวหนีออกนอกประเทศ

ขณะที่ วันนี้ ( 6 ก.ค.) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย 11,000 คน จะส่งผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดโดยพลัน

พร้อมทั้งระงับการเดินทางไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวภายในวันที่ 6 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป และให้ DSI ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยพลัน

ทั้งนี้เนื่องจากทาง STARK ได้แจ้งให้นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ พ้นจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจใน STARK ตามหนังสือที่บริษัทแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เวลา 21.00 น. เช่นเดียวกับพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ที่ได้ลาออกจากการเป็นประธานบริษัท

หลังจากถูกอดีตประธานบริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของ STARK ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชี สามารถทำให้ขายหุ้นล็อตใหญ่ได้เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท ในกรณีนี้นายวนรัชต์ได้ ให้ข่าวว่า เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบริหาร เพราะได้ยกอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารกิจการให้กับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ

นายวนรัชต์ ในฐานะผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวโทษดำเนินคดีต่อนายชนินทร์ และลูกน้อง ทำให้เกิดข้อกังขาว่า ในเมื่อนายวนรัชต์เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีด้วยการขายหุ้นล็อตใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาท ทำไมเขาจึงเป็นเพียงผู้เสียหาย ไม่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย

 

เจ้าหน้าที่ในกรม DSI กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีใครมาร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายวนรัชต์ เรื่องนี้อดีตCFOของSTARKไปให้ข้อมูลหลักฐานกับสำนักงานก.ล.ต.หมดแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.หลักฐานชัดเจนเส้นทางการเงินว่าออกจากบัญชีไหน ไปเข้าบัญชีใคร แต่เวลาล่วงเลยมาถึงขั้นนี้ก.ล.ต.ยังไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี ซึ่งหากก.ล.ต.ไม่ทำ ทางผู้เสียหายคือผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษเองก็ได้

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) มีอำนาจที่จะระงับความเสียหายได้หลายอย่าง ทั้งการอายัดทรัพย์สิน การห้ามเคลื่อนย้ายถ่ายเทหลักฐาน ประสานงานห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร แต่ปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ นอกจากนี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรแสดงบทบาทครั้งสุดท้ายก่อนหมดอำนาจหน้าที่ด้วยการมีคำสั่งพิเศษขีดเส้นต่อก.ล.ต.ภายใน3วัน7วันให้เร่งดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ ประสานงานอายัดทรัพย์สินต่างๆ ตามเงินคืนผู้เสียหาย จะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นคืนตลาดทุนได้