ทางเลือกการลงทุนเมื่อดอกเบี้ยใกล้ระดับสูงสุด

ทางเลือกการลงทุนเมื่อดอกเบี้ยใกล้ระดับสูงสุด

เมื่อการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับสู่ระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในปีก่อนและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันใกล้เข้าสู่ระดับสูงสุด หรือระดับที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกจะสิ้นสุดวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนยายของธนาคารกลางและคาดการ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2566 โดย Bloomberg

ทางเลือกการลงทุนเมื่อดอกเบี้ยใกล้ระดับสูงสุด

หมายเหตุ : คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโนบายสิ้นปี 2566 จากผลสำรวจของ Bloomberg ข้อมูลวันที่ 23 มิถุนายน 2566

     จากตารางข้างต้น วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นไปอย่างเร็วและแรงในประเทศเศรษฐกิจหลัก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00% ตั้งแต่มีนาคม 2565 เป็นต้นมา สู่ระดับ 5.00-5.25% ต่อปี  ซึ่งผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ระดับสูงสุดแล้ว

 

     อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้งในปี 2566 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะทำระดับสูงสุดที่  5.50-5.75% ต่อปี  เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหลังจากที่ได้ปรับขึ้นทั้งสิ้น 1.50% สู่ระดับ 2.00% ต่อปี มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 2.25% ต่อปี  ตรงข้ามกับผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ โดย Bloomberg ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะทำระดับสูงสุดที่ 2.00% ต่อปี

     แม้ว่าธนาคารกลางหลักและไทยจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่อาจจะปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง เพราะแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอลง และอาจสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ใกล้ระดับสูงสุดเพียงพอที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป  

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มชะลอลงในปี 2566

ทางเลือกการลงทุนเมื่อดอกเบี้ยใกล้ระดับสูงสุด

ที่มา : คาดการณ์ GDP จากผลสำรวจของ Bloomberg ข้อมูลวันที่ 23 มิถุนายน 2566

 

ตลาดการเงินได้มีการปรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ย่อมมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะลดลง เพื่อปรับให้ได้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นชดเชยค่าเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มใกล้ระดับสูงสุด  นักลงทุนจึงต้องเตรียมแผนการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) หรือหลักทรัพย์ (Securities) หลายประเภทที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ โดยทางเลือกของการลงทุน ได้แก่                         

      ตราสารหนี้ แบ่งเป็นภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่ง ตราสารหนี้เอกชนมักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ซึ่งให้อัตราผลตอบแทน (Yield) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาบริษัทเอกชนที่จะลงทุน โดยเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี

      ตราสารทุน  นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เมื่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด หุ้นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ หุ้นในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยในระดับสูง เช่น ธนาคาร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทที่มีหนี้สินในระดับต่ำ และมีความสามารถในการขยายธุรกิจก็มีความน่าสนใจที่จะลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง อาจมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอ จึงควรพิจารณาลงทุนในกลุ่ม Defensive ที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด โดยเน้นไปที่บริษัทคุณภาพสูง มีการเติบโต มีฐานะทางการเงินทีดี และมีการจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำสเมอ  

     การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก กองทุนอสังหาริมทรัพย์มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างมาก เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้น ความต้องการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะมีความน่าสนใจลดลง เพราะเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของอัตราการปันผลกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะลดลง ซึ่งกองทุนอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ ดังนั้น เมื่อความเสี่ยงสูงกว่า อัตราผลตอบแทนที่ได้ก็ควรจะสูงกว่า  แต่ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับสูงสุดความน่าสนใจจะมีขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มนิ่งหรืออาจจะลดลงจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบจากการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะรอเวลาให้อัตราดอกเบี้ยทำระดับสูงสุดแล้วจึงเข้าลงทุน โดยพิจารณาลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานของกองทุนอสังหาริมทรัพย์

   ในทุกๆ จังหวะของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลัง นักลงทุนมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนให้ยั่งยืนโดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนหลายประเภทที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  ต้องศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ  แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้นจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว โดยสามารถเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการลงทุน