เทียบฟอร์ม 5 หุ้น อานิสงส์ ค่ายรถ EV ตั้งฐานการผลิตในไทย ใครมาแรงสุด!

เทียบฟอร์ม 5 หุ้น อานิสงส์ ค่ายรถ EV ตั้งฐานการผลิตในไทย ใครมาแรงสุด!

5 หุ้น อานิสงส์ ค่ายรถ EV ตั้งฐานการผลิตในไทย WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ขณะที่ AMATA วางเป้าปี 66 ขายที่ดิน 2,500 ไร่  เติบโตมากกว่า 100%

หนึ่งในเทรนด์รถยนต์ที่มาแรงสุดๆ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแนวโน้มว่าจะทยอยย้ายฐานผลิตจากจีนสู่ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นั่นแปลว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าสู่พื้นที่นิคมฯ EEC เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์คงหนีไม่พ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรถยนต์ไฟฟ้าบางแบรนด์ที่เข้ามาผลิตในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีการออกกฎมาว่า ถ้าใครจะเข้ามาขายรถยนต์ EV หากขายได้เท่าไร ต้องสามารถผลิตได้ตามจำนวนที่ขายได้ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ที่มีรถยนต์ EV ราคาไม่สูงมากนักอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์  หรือ โอร่า กู๊ดแคท หรือ MG ถ้าขายได้เท่าไรต้องผลิตได้เท่านั้น ฉะนั้นการจะผลิตในไทยได้ก็ต้องมีการเข้ามาตั้งโรงงาน ทำให้หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรกจากนโยบายในครั้งนี้ โดยเฉพาะหุ้น WHA AMATA  

ส่วนกลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรา ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์คือ หุ้น  AH เพราะถือเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปัจจุบันให้กับรถสันดาบทั่วไป แต่วันนี้ AH มีการไปร่วมลงทุนกับ บริษัท วินฟาสท์ เทรดดิ้ง แอนด์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ประเทศเวียดนาม ซึ่ง AH เข้าไปเป็นซัพไพรเออร์ผลิตชื้นส่วนให้ในตัวถังรถ 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นนิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการตั้งฐานการผลิตจะมีหุ้น WHA AMATA ROJNA รวมถึงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะได้รับอานิสงส์ และกลุ่มทาเรือที่หลังจากผลิตเสร็จแล้วจะมีการส่งออกไป หุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็น NYT 

"การขยายฐานเข้ามาในบ้านเราภาพค่อนข้างชัด เพราะเริ่มเห็นถึงความจริงจัง เนื่่องจากประเทศไทยถือว่า เป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนด้วย และประเทศจีนมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามา และนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนเข้ามาก็มีความสนับสนุน จึงทำให้ในอนาคตจะเห็นถึงการเติบโตส่งออกและการซื้อในประเทศก็มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือน" 

 

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รายงานว่า ในปี 573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี ซึ่งปัจจุบันได้มีการอนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน 

ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า ตลาดรถ EV ในไทยยังเติบโตสูง หลังค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเปิดตัวรถ EV ในไทย พร้อมเดินหน้าลงทุนผลิตในประเทศ เพื่อขานรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐส่งผลให้รถ EV ในประเทศมีให้เลือกหลากรุ่นหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะกลุ่ม SUV ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด 

โดยตัวเลขยอดจดทะเบียนรถ EV ป้ายแดงปี 2565 สูงถึง 9,678 คัน หรือเพิ่มขึ้น +400.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดจองรถ EV ในงานมหกรรมมอเตอร์เอ็กซ์โป เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สูงถึง 5,800 คัน เช่นเดียวกับยอดจองโดยตรงผ่านค่ายรถทางฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มาบุกทำตลาดเองอีกไม่ต่ำกว่า 15,000 คัน 

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากรถยนต์ EV ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิต ดังนี้ 

เทียบฟอร์ม 5 หุ้น อานิสงส์ ค่ายรถ EV ตั้งฐานการผลิตในไทย ใครมาแรงสุด!

1.บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิ 522.70 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 656.07 ล้านบาท ลดลง 20.3% โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 2,440.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,420.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% และกำไรปกติ 505.0 ล้านบาท ลดลง 22.7% ขณะที่มาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 67,858.63 ล้านบาท ส่วนราคาปิด ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 ที่ 4.48 บาท 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 487 ไร่ (ไทย 379 ไร่ / เวียดนาม 108 ไร่) และมียอดการเซ็น MOU รวม 753 ไร่ (ไทย 445 ไร่/เวียดนาม 308 ไร่) ส่งผลให้บริษัทฯรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,052.5 ล้านบาท ถือว่าเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับปีก่อน

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า ปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ซึ่งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในแต่ละทำเลนั้นได้รับความสนใจจากลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มลูกค้าผู้ผลิตวัสดุแพคเกจและบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตรและอุปกรณ์ขนย้ายดินคุณภาพสูง ที่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินและลงนามในสัญญาเช่าโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ไปแล้วบางส่วน 

 

2.บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายปี 66 จะมียอดขายที่ดิน 2,500 ไร่  เติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบปีก่อนที่อยู่ระดับประมาณ 693 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายจากเวียดนามราว 600-700 ไร่ ส่วนที่เหลือมาจากประเทศไทย

โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งการเปิดประเทศของจีน และไทย และหลายประเทศที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้มองว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีอีกด้วย ขณะที่บริษัทร่วมทุนไทย-จีน ยังมีที่ดินรองรับแล้ว จึงคาดว่าบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ไร่

ทั้งนี้ หากยอดขายเป็นไปตามแผน คาดว่ารายได้รวมปี 66 มีโอกาสทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยปัจจุบันมียอดขายรอโอน 6,600 ล้านบาท คาดจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ในปี 66 กว่า 60% รวมทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจรายได้ประจำเข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนนิคมอุสาหกรรมในสปป.ลาว ขนาดพื้นที่ประมาณ 3-4 พันเฮกตาร์ คาดว่าจะเริ่มพัฒนาในช่วงไตรมาส 2/66

ทั้งนี้ กำไรสุทธิ์ไตรมาส 1/66 ที่ 491.98 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/65 ที่ 553.47 ล้านบาท ราคา ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 ปิดที่ 22.80 บาท มาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 26,105.00 ล้านบาท 

 

3.บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA

สำหรับ ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิ 194.90 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.096 บาท ลดลง 76% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 825.10 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.408 บาท ราคา ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 ปิดที่ 5.75 บาท ส่วนมาร์เก็ตแคปที่ิ 11,718.68 ล้านบาท   

ทั้งนี้ ROJNA ขายที่ดิน  442 ไร่ในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จากหลากหลายอุตสาหกรรม  ยอดขายคิดเป็น 63% ของประมาณการ FY23 ด้วยแนวโน้มอุปสงค์จำนวนมาก ROJNA มีโอกาสขายที่ดินสูงกว่าคาด ยอดขายรอโอน 966 ไร่ ณ สิ้น 1/66 จะรับรู้รายได้ปีนี้และปีหน้า 



4.บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 105.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 1/65 ที่ 53.55 ล้านบาท ส่วนราคา ปิด ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 ที่ 4.12 บาท ขณะที่ มาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 5,208.00 ล้านบาท  โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ทำนิวไฮเพิ่ม 10-15% จากปีก่อนที่ 1.45 พันล้านบาท เนื่องจากธุรกิจบริหารท่าเทียบเรือ A5 มีการเติบโตได้ดี หลังจากได้รับอานิสงส์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ตลาดการส่งออกรถยนต์ในไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้

 

5.บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH

ผลประกอบการไตรมาส 1/66 บริษัทมีรายได้รวม 8,197 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 1,382 ล้านบาท หรือเติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,815 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลัก 561.82 ล้านบาท หรือเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 402.46 ล้านบาท ขณะที่มาร์เก็ตปแคป ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 13,129.15 ล้านบาท ส่วนราคาปิด ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 ที่ 37.25 บาท  

โดยผลประกอบการไตรมาส 1/66 มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการในระดับที่สูงและการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนไมโครชิป ทำให้มีคำสั่งผลิต (Order) จากธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ฟื้นตัวได้ดี ตามอุตสาหกรรมยานยนต์และภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ IoT ยังคงมีทิศทางที่ดี ซึ่งในปีนี้เริ่มมีออเดอร์เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ GPS และอุปกรณ์ติดตามเข้ามามากขึ้น