นักลงทุนลุ้นก้าวไกลตั้งรัฐบาลผสม ยิ่งยืดเยื้อยิ่งน่ากังวล

นักลงทุนลุ้นก้าวไกลตั้งรัฐบาลผสม ยิ่งยืดเยื้อยิ่งน่ากังวล

หนึ่งสัปดาห์หลังพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง นักลงทุนกำลังจับตาว่า ว่าที่รัฐบาลผสมจะได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากพอตั้งรัฐบาลหรือไม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ความไม่แน่นอนนี้กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ซ้ำเติมตลาดหุ้นไทยที่ผลงานแย่สุดในเอเชียปีนี้ และส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ก้าวไกลและพันธมิตรเตรียมแถลงการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ (22 พ.ค.) การเทขายยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าจะชัดเจนเรื่องรัฐบาลใหม่

“นักลงทุนจะรอพัฒนาการทางการเมืองเชิงบวกเพิ่มเติม” ก่อนตัดสินใจลงทุน รักพงศ์ ไชยศุภรากุลผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกลซึ่งได้ ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง ตั้งเป้าผ่านความเห็นชอบจากสภาในการตั้งรัฐบาลผสมกว่า 300 โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังได้ไม่ถึง 376 เสียงที่ต้องใช้ในการตั้งรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาทหารแต่งตั้ง 250 คน ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเลือกนายกฯ เช่นกัน

จากข้อมูลที่บลูมเบิร์กรวบรวมได้ สัปดาห์ก่อนนับถึงวันศุกร์ (19 พ.ค.) นักลงทุนดึงทุนออกแล้ว 513 ล้านดอลลาร์ เป็นสัปดาห์แรกของเดือนที่เงินทุนไหลออก พร้อมเทขายหุ้นไทย 312 ล้านดอลลาร์ ดัชนีหุ้นไทยลดลง 3% เป็นสัปดาห์ที่หุ้นลงหนักสุดในรอบเกือบหนึ่งปี

“ยิ่งการเจรจายืดเยื้อ นักลงทุนยิ่งไม่สบายใจ การตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วจะขจัดความกังวลเรื่องผลเลือกตั้ง ซึ่งสำคัญต่อการบรรเทาความไม่สบายใจของนักลงทุน” กัลวิน เชีย นักกลยุทธ์สกุลเงินจากแนตเวสต์ มาร์เก็ตในสิงคโปร์ ให้ความเห็น

หากตั้งรัฐบาลได้ก็คาดว่าพรรคร่วมจะทำตามที่ได้หาเสียงไว้เรื่องการแจกเงิน เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มบำนาญและเบี้ยผู้สูงอายุ พรรคก้าวไกลให้คำมั่นด้วยว่าจะยุติการผูกขาดและส่งเสริมการลงทุนนอกกรุงเทพฯ

กระนั้น รัฐบาลผสมของนายพิธาอาจเสี่ยงถ้าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมผนึกกำลังกันได้เสียงส่วนใหญ่จาก ส.ว. สนับสนุน การกระทำเช่นนี้อาจจุดประกายให้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยประท้วงอีกครั้ง หลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองที่ทหารหนุนหลังมาเกือบสิบปี