ดาวโจนส์บวกในกรอบแคบ 5.14 จุด ถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มค้าปลีก

ดาวโจนส์บวกในกรอบแคบ 5.14 จุด ถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มค้าปลีก

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(1มี.ค.)ปรับตัวลงในกรอบแคบ 5.14 จุด โดยได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทค้าปลีก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.14 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 32,661.84 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 18.76 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 3,951.39 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 76.06 จุด หรือ 0.66% ปิดที่ 11,379.48 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 4.19% ในเดือนก.พ. ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 2.61% และ 1.11% ตามลำดับ โดยถูกกดดันจากการที่นักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

บริษัทโคห์ลส์ ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยว่าบริษัทประสบภาวะขาดทุนในไตรมาส 4/2565 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าบริษัทจะมีกำไร นอกจากนี้ รายได้ของบริษัทยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนบริษัทโลว์ส ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านรายใหญ่ของสหรัฐ และเป็นคู่แข่งของบริษัทโฮม ดีโปท์ อิงค์ เปิดเผยกำไรในไตรมาส 4/2565 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่รายได้ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองของสหรัฐ โดยจะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ข้อมูลจากสมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐได้พุ่งขึ้นเหนือระดับ 6.7% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 โดยปรับตัวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองส่งผลให้จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 6% ในสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดในรอบ 28 ปี และดิ่งลง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ลดลง 6% ในสัปดาห์ที่แล้ว และดิ่งลง 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักลงทุนกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

ทั้งนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 47.4 ในเดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.0

ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

นักลงทุนเกาะติดการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทกลุ่มค้าปลีกในสัปดาห์นี้ เพื่อจับตาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะถูกกดดันจนปิดปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ แต่ข้อมูลจาก The Stock Trader s Almanac ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวขึ้นในเดือนมี.ค. โดยดัชนีดาวโจนส์และดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 0.9% และ 1.1% ในเดือนดังกล่าว ส่งผลให้เดือนมี.ค.เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวดีที่สุดเป็นอันดับ 5 จากทั้งหมด 12 เดือน

แต่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก็ปรับตัวอย่างผันผวนในเดือนมี.ค.สำหรับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลง 13.7% ในเดือนดังกล่าวในปี 2563 ขณะที่โควิด-19 เริ่มการแพร่ระบาด ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น 6.6% และ 2.3% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

นอกจากนี้ นักลงทุนมักทำการเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรในช่วงท้ายเดือนมี.ค. ก่อนปิดงบการเงินประจำไตรมาสแรกของทุกปี