จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย

หากถามถึง 'เบญจภาคี' ในวงการ 'ศิลปะไทย' มีหรือไม่, พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง TAAC กล่าวยกย่องอาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต คือหนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย จิตรกรเอกผู้เคยถูกปฏิเสธรับภาพวาดเข้าประกวดศิลปกรรมเด็ก เพราะคิดว่าเป็นภาพวาดฝีมือผู้ใหญ่

วงการ ‘พระเครื่อง’ ให้กำเนิดคำว่า เบญจภาคี หมายถึงพระเครื่อง 5 องค์ที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่อง ทั้งหายากและมีมูลค่าจากเดิมหลักพันบาทในช่วงก่อเกิดกระทั่งทะยานสู่หลักหลายสิบล้านบาทในปัจจุบัน

หากถามถึง เบญจภาคี ในวงการ ศิลปะไทย มีหรือไม่ 

พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center (TAAC) บริษัทประมูลศิลปะชั้นนำของไทย กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย กล่าวว่า มีเช่นกัน

โดยศิลปินไทยท่านหนึ่งที่เปรียบเสมือน ‘เบญจภาคีในวงการศิลปะไทย’ คือ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ด้วยการสร้างงานรูปแบบเฉพาะตนที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการซึ่งผลิบานขึ้นจากความหลงใหลในศิลปกรรมไทย

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย ภาพกินรี ในจิตรกรรมชุด 'นางรำ'

ชุดภาพจิตรกรรมที่แพงที่สุดและหายากที่สุดของ อ.จักรพันธุ์ ได้แก่ ผลงานชุด ‘นางรำ’ ซึ่งภาพ 'กินรี' ที่เห็นอยู่นี้ เป็นหนึ่งในภาพชุดนางรำ

ซึ่งศิลปินถ่ายทอดเอกลักษณ์ความงาม เผยผิวพรรณของมนุษย์ในภาพวาดให้เปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา ดวงตา ใบหน้า และสัดส่วน รังสรรค์ออกมาได้สวยงามดุจเทวดาเนรมิต การตัดเส้นอย่างละเอียด แม้แต่บนเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก็ดูจะพลิ้วไหวได้จริงยามเมื่อขยับกาย ราวกับภาพเขียนนั้นมีชีวิตมีลมหายใจ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย พิริยะ วัชจิตพันธ์ เล่าประวัติภาพวาดฝีมือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ความสามารถเชิงจิตรกรรมของอาจารย์จักรพันธุ์เปล่งประกายตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียน ‘วชิราวุธวิทยาลัย’ 

พิริยะ กล่าวว่า “วชิราวุธวิทยาลัยมีหลักสูตรการสอนคล้ายโรงเรียนในยุโรปและอเมริกา เช้าเรียน บ่ายเล่นกีฬา อาจารย์จักรพันธุ์เป็นนักเรียนคนเดียวที่โรงเรียนไม่บังคับให้เล่นกีฬา ตอนบ่ายๆ ส่งเข้าห้องวาดรูป มีห้องสตูดิโอให้เสร็จสรรพให้วาดรูปตามใจชอบ เพราะเด็กคนนี้เก่งจัด ให้วาดรูปตามสบาย”

พร้อมกับนำชมผลงานภาพเหมือนบุคคล (Portrait) จำนวน 2 ภาพ วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพที่หนึ่งชื่อ สุภาพสตรี ภาพที่สองชื่อ สุภาพบุรุษ ผลงานทั้งสองภาพนี้ อาจารย์จักรพันธุ์ได้สร้างสรรค์ขึ้นตอนอายุ17 ปี ขณะเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย ภาพที่ครั้งหนึ่งถูกปฏิเสธไม่รับเข้าประกวดระดับเยาวชน เพราะคิดว่าไม่ใช่ฝีมือเด็กวาด

“รูปในชุดนี้ได้รับการส่งเข้าประกวดในงานศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งในยุคหนึ่งมีการประกวดศิลปกรรมเด็ก โรงเรียนวชิราวุธฯ ส่งรูปของ อ.จักรพันธุ์ เข้าประกวด แต่โดนคัดออก หาว่าโกง คุณเอารูปผู้ใหญ่(วาด)มาส่ง กรรมการไม่เชื่อว่าเด็กวาด ไม่รับ 

จนผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ต้องไปหา อ.ศิลป์ พีระศรี ไปเล่าว่าเด็กคนนี้วาดจริงๆ ถึงยอมรับในตอนนั้น แต่เลยเวลารับผลงานแล้ว เป็นยุคที่ อ.จักรพันธุ์ อยู่ ม.5-6 และเป็นยุคที่ อ.จักรพันธุ์ ได้เรียนต่อตัวต่อกับอาจารย์ศิลป์ขณะอยู่ที่วชิราวุธฯ

แต่น่าเสียดายเมื่อจบจากวชิราวุธฯ เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ปีเดียวกันนั้นเอง อ.ศิลป์ เสียชีวิต อ.จักรพันธุ์จึงไม่ได้เรียนกับ อ.ศิลป์ ในมหาวิทยาลัย” พิริยะ กล่าว 

ภาพ สุภาพสตรี และภาพ สุภาพบุรุษ เป็นภาพที่ อ.จักรพันธุ์ วาดคุณป้าและคุณลุงของอาจารย์เองเมื่อปีพ.ศ.2503 และพ.ศ.2504 ตามลำดับ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย ภาพกินรี (พ.ศ.2542) ราคาเปิดประมูล 3.5 ล้านบาท

จากการประมูลภาพจิตรกรรมเท่าที่ผ่านมาในประเทศไทย ผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ขนาด 2 เมตร x 2.30 เมตร ทำสถิติราคาประมูลสูงสุดไว้ที่ 26 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกันเป็น ‘ตารางเซนติเมตร’ คนที่แพงที่สุดในประเทศไทย คือ อ.จักรพันธุ์ 

“เคยมีคนไปคุยกับ อ.จักรพันธุ์ ว่าเขามีงบประมาณ 1 ล้านบาท อยากให้อาจารย์วาดภาพพอร์เทรตให้ อ.จักรพันธุ์ตอบ ว่าคุณจะเอาไปทำไม รูปใหญ่เท่าแสตมป์

ผมเคยคำนวณราคาที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยคือแถวชิดลม ตารางวาละ 4 ล้านบาท หรือตารางเมตรละ 1 ล้าน แต่งาน อ.จักรพันธุ์ ตารางเมตรละ 60 กว่าล้าน แพงกว่าที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทย 60 เท่า” พิริยะ กล่าว

ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center กล่าวด้วยว่า เคยมีภาพของอ.จักรพันธุ์ผ่านการประมูลแบบส่วนตัวด้วยมูลค่าเกือบ 40 ล้านบาท

‘ภาพกินรี’ สีพาสเทลบนกระดาษ ขนาด 33 x 23 เซนติเมตร เขียนเมื่อพ.ศ.2542 อ.จักรพันธุ์เซ็นชื่อไว้ตรงมุมล่างด้านซ้ายของภาพ รวมทั้ง ‘ภาพสุภาพสตรีและภาพสุภาพบุรุษ’ มีผู้นำเข้าร่วมในงานประมูล “STRATOSPHERE” Art Auction เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ค.2567 ราคาเปิดประมูล 3.5 ล้านบาท และ 1.2 ล้านบาท (ตามลำดับ)

จักรพันธุ์ โปษยกฤต หนึ่งในเบญจภาคีวงการศิลปะไทย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต พ.ศ.2561

อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เคยถวายการเขียนภาพให้ ‘รัชกาลที่ 9’ ทอดพระเนตร เป็นพระอาจารย์พิเศษถวายการสอนวิชาจิตรกรรมให้กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2543 ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบันได้ก่อตั้ง 'มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต' ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ มูลนิธิ สถานที่ทำงาน และโรงละครหุ่นกระบอก ขึ้นที่บริเวณบ้านพัก ถนนเอกมัย กรุงเทพฯ