‘จีน’ จ่อรื้อระบบให้อำนาจ ‘สี จิ้นผิง’ คุมแบงก์ชาติ

‘จีน’ จ่อรื้อระบบให้อำนาจ ‘สี จิ้นผิง’ คุมแบงก์ชาติ

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจ่อนำคณะกรรมาธิการการเงินกลางแห่งประเทศจีน หรือ Central Financial Work Commission ที่ถูกยุบไปตั้งแต่ปี 2003 กลับมาใหม่ หวังให้อำนาจสีควบคุมเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางมากขึ้น กูรูชี้สีอาจแต่งตั้งคนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งสูงในธนาคารกลางฯ

Key Points

  • จีนจ่อนำคณะกรรมาธิการการเงินกลางแห่งประเทศจีนที่ถูกยุบไปตั้งแต่ปี 2003 กลับมา เพื่อให้อำนาจสี จิ้นผิงควบคุมเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางหรือ PBOC มากขึ้น
  • โดยสี จิ้นผิงอาจแต่งตั้งให้คนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งอาวุโสในธนาคารกลางแห่งประเทศจีน
  •  กูรูมองว่า การเปลี่ยนแปลงใน PBOC ครั้งนี้อาจไม่กระทบนโยบายการเงินที่สำคัญมากนัก ทว่าท่าทีของธนาคารกลางอาจแข็งกร้าวน้อยลง
  • นักวิเคราะห์มองว่านโยบายการเงินจีนในอนาคตมีแนวโน้มดําเนินไปในทิศทาง ที่สี จิ้งผิงต้องการ

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เตรียมปรับระบบภายในเพื่อเอื้อให้เขามีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายทางการเงินมากขึ้น ผ่านการนำคณะกรรมาธิการการเงินกลางแห่งประเทศจีน หรือ Central Financial Work Commission ที่มีอํานาจในการประสานงานด้านนโยบายการเงินและการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งของธนาคารกลางกลับมาอีกครั้ง โดยแหล่งข่าวของบลูมเบิร์กระบุว่าสี จิ้นผิงจ่อแต่งตั้ง ‘ติง เสวียเซียง’ ให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการดังกล่าว

มากไปกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ‘เหอ หลี่เฟิง’ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน ผู้รับผิดชอบด้านนโยบายเศรษฐกิจในการปรับนโยบายเศรษฐกิจที่จะมาถึงในเดือนหน้า แทน ‘หลิว เหอ’ โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลให้ข้อมูลว่า ‘เหอ หลี่เฟิง’ ก็อยู่ในช่วงการพิจารณาให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน หรือ PBOC ด้วย

คาดว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะทําให้การตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจเข้าไปอยู่ในมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น และยังรวมศูนย์ภายใต้อำนาจของสี จิ้นผิงแต่เพียงผู้เดียว นักวิเคราะห์มองว่าการกระทำครั้งนี้เน้นย้ำว่าภาคการเงินจีนที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,980 ล้านล้านบาทมีความสำคัญต่อสี จิ้นผิง อย่างยิ่ง

ทั้งนี้ หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวสำเร็จ รองประธานาธิบดี ซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องเข้าไปดํารงตําแหน่งระดับสูงใน PBOC จะมีอำนาจในการควบคุมเครื่องมือทางการเงินของประเทศเบ็ดเสร็จมากขึ้น

เหอ หลี่เฟิง

เหอ หลี่เฟิง

 

คริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รองผู้อํานวยการฝ่ายวิจัยสัญชาติจีน ณ​ Gavekal Dragonomics กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหอ หลี่เฟิงจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี และหากเขาได้รับตำแหน่งแทน ‘กั๋ว ชูชิง’ เลขาธิการธนาคารกลางคนปัจจุบัน ตลาดอาจมองว่าสี จิ้นผิงมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสรุปประเด็นเรื่องการแต่งตั้งดังกล่าวอย่างชัดเจน และตำแหน่งต่างๆ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาก่อนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (The National People’s Congress) ในเดือนหน้า โดยการประชุมดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายการเมืองที่สำคัญของจีนเพราะสภานิติบัญญัติระดับสูงจะยืนยันการแต่งตั้งรัฐมนตรีรวมถึงผู้ว่าการ PBOC ทว่ายังไม่มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ

หากเหอ หลี่เฟิง วัย 68 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ PBOC จริง จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 90 ที่รองประธานาธิบดีซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจเข้าไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในธนาคารกลางแห่งประเทศจีน

โดยรองประธานาธิบดีคนล่าสุดที่เข้ารับตำแหน่งอาวุโสใน PBOC คือ ‘จู หลงจี’ ซึ่งเขาเข้ารับตำแหน่งใน PBOC ระหว่างปี 1993 ถึง 1995 เพื่อจัดการกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดของประเทศเป็นประวัติการณ์ ที่สูงถึง 24% ในปี 1994 รวมทั้งเข้ามาจัดการกับความไม่ชอบมาพากลระบบการเงินจีน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการเงินกลางแห่งประเทศจีนก่อตั้งในปี 1998 เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำงานสอดคล้องกับนโยบายและหลักการของพรรคคอมมิวนิสต์ ในครั้งนั้น ‘เหวิน เจียเป่า’ รองประธานาธิบดี ก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมาธิการคนแรกของ PBOC และต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการดังกล่าวล่มสลายลง เพราะรัฐบาลจีนได้จัดตั้งหน่วยงานกํากับดูแลการธนาคารของจีนขึ้นมา 

 

การยกเครื่องครั้งใหญ่

จู เหอซิน อดีตนายธนาคารอาวุโส ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มบริษัทการเงิน Citic Group Corp. ของรัฐ อยู่ในช่วงรับการพิจารณาให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนต่อไป โดยแทนที่ ‘อี้ กัง’ ซึ่งถูกปลดออกจากรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการประชุมใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว และเกษียณอายุราชการในอีกไม่นาน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบทบาทเลขาธิการและผู้ว่าการ PBOC ถูกแยกออกจากกัน โดยภายใต้การบริหารงานของกั๋ว ชูชิงที่คาดว่าจะเกษียณอายุในอนาคต ทั้งนี้ บทบาทหลักของเขาคือเรื่องการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน และรับผิดชอบการปรับใช้นโยบายการเงิน

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า การเปลี่ยนแปลงใน PBOC ครั้งนี้อาจไม่กระทบนโยบายทางการเงินที่สำคัญมากนัก ทว่าท่าทีของธนาคารกลางอาจก้าวร้าวน้อยลงเล็กน้อย

‘จีน’ จ่อรื้อระบบให้อำนาจ ‘สี จิ้นผิง’ คุมแบงก์ชาติ

คริสโตเฟอร์ เบดดอร์ กล่าวเสริมว่า “จริงๆ หายากมากที่จะมีเลขาธิการธนาคารกลางคนไหนที่ออกนโยบายทางการเงินและการธนาคารที่แข็งกร้าวเท่ากั๋ว ชูชิง และสำหรับเหอ หลี่เฟิงที่ทำหน้าที่อยู่ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นและสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าเขาอาจไม่ระแวดระวังเรื่องความอันตรายของหนี้เหมือนกับกั๋ว ชูชิง หรือหลิว เหอ นักเศรษฐศาสตร์มือขวาของสี จิ้นผิง

ด้าน ติง ซวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่  Standard Chartered กล่าวว่า

“นโยบายการเงินมีแนวโน้มที่จะดําเนินต่อไปในทิศทางการปฏิรูปที่สี จิ้งผิงกำหนดไว้ ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด หรือเรื่องที่ทำให้นักวิเคราะห์แปลกใจ”

เหอ หลี่เฟิง คือหัวหน้าหน่วยงานวางแผนของรัฐของจีน (China’s state planning agency) และคนสนิทของสี จิ้นผิง โดยทั้งคู่รู้จักกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ในขณะที่ ‘จู หลงจี’ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพไปกับการทำหน้าที่ในธนาคารของรัฐ และเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าการ PBOC ก่อนที่ในปี 2020 จะเป็นประธานที่ Citic จนมีบทบาทสําคัญในการช่วยเหลือผู้จัดการหนี้เสียที่ China Huarong Asset Management Co. บริษัทให้บริการทางการเงินชาติจีน

อนึ่ง เหอ หลี่เฟิง จบปริญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ทว่าไม่เป็นที่รู้จักในฐานะนักทฤษฎี และใช้เวลาเกือบทั้งอาชีพของเขาในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าเขาอาจได้รับตำแหน่งแทน ‘หลิว เหอ’ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างมากหลังจากนําทีมเจรจาทางการค้ากับสหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จนส่งผลให้ข้อตกลงการค้าในช่วงต้นปี 2020 สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  

โดยแม้หลิวอาจลงจากตำหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจสูงสุดของสี จิ้นผิง แต่นักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีทเจอนัลชี้ว่าเขาอาจมีบทบาทมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ