Corner Investor !! พาหุ้น "ฟ้าผ่า" รายย่อย

Corner Investor !!   พาหุ้น "ฟ้าผ่า" รายย่อย

“หุ้นเล็กไล่เช็กบิล” เป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนรายย่อยไม่อยากได้ยินแน่นอนเพราะนั้นหมายถึง "เกิดข่าวลือ ข่าวลบ" ปัจจัยที่มีผลต่อบริษัทไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนทำให้เกิดอาการแพนิคเซลล์ราคาหุ้นด้วยการเทขายแบบหนีตาย

          ซึ่งอาจจะหนักมากขึ้นไปอีกหากเป็นการใช้บัญชีมาร์จิ้นเพราะต้องเจอ Margin Call หรือเรียกหลักประกันเพิ่มเติมหลังราคาร่วงลงต่ำ และหากไม่พอต้องถูกบังคับขาย หรือ Force Sell ไปตามระเบียบ

            สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ดังกล่าวกับหุ้นขนาดกลางแต่ไซส์มาร์เก็ตแคประดับแสนล้านบาท  ที่สำคัญยังโยงไปยังหลายหุ้นในกลุ่ม และนอกกลุ่มจนกลายเป็นข่าวใหญ่ราคาหุ้นร่วงแรงเจอแรงขาย จนสุดท้ายออกมาเปิดหน้าไพ่ซะเอง  “เจ้าของ และ ผู้บริหาร” ขาย Big Lot เพื่อแก้ไขปัญหา Margin Call  ระดับ 1,459  ล้านบาท จนสามารถหยุดอาการแพนิคเซลล์ลงไปได้

            ราคาหุ้นได้เห็นการฟื้นตัวของทั้งกลุ่มแต่ด้าน ปฏิบัติการยอมเผยธุรกรรม เก็งกำไรหุ้นตัวเอง เป็นเพราะ “จนมุม” หรือ ต้องการให้ “จบเรื่อง” เพราะยังมีการพูดถึงกลุ่ม  Cornerstone  Investor  ที่เข้ามามีบทบาทในหุ้นหลายตัวในตลาดหุ้นไทยและสุดท้าย  “วงแตกกันเอง” เพราะการรวมตัวกันตลาดหุ้นไม่มีอยู่จริง  ใครทำกำไรก่อน คือผู้ที่อยู่ในเกมได้ต่อไป  

           ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ นอกจากเจ้าของหุ้นที่ทำรายการ Big Lot ออกมาแต่สิ่งที่เห็นได้ตลอดในช่วงโควิดถึงปัจจุบัน คำว่า นักลงทุน(รายใหญ่)เจาะจง หรือ Corner เข้ามามีบทบาทเรียกกระแส และราคาหุ้นให้กับหุ้นใหม่ไอพีโอ และหุ้นเก่าที่ต้องการมีสตอรี่ได้เป็นอย่างดี

            เดิมที่นักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ที่มักจะเรียกติดปาก คือ  “เสี่ย”  ซึ่งชื่อที่คุ้นเคยกันดีตั้งแต่รุ่นเดอะ  “เสี่ยปู่”  สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล   “เสี่ยป๋อง”  วัชระ แก้วสว่าง   “เสี่ยยักษ์”    วิชัย วชิรพงศ์   “เสี่ยนเรศ”  นเรศ งามอภิชน  เป็นต้น  ซึ่งคำจำกัดความสำนักงาน ก.ล.ต.  กรณีเป็นนิติบุคคล ทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท  ,รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 4ล้านบาท , พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท

            หากเป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) กรณีเป็นนิติบุคคล ทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท  ,รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือ 7 ล้านบาท กรณี ไม่นับรวมคู่สมรส , พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

           กลับกลายช่วงไม่ถึง 4  ปี นักลงทุนในกลุ่ม Corner เข้ามาตั้งแต่การมีชื่อได้หุ้นใหม่ (IPO) จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  

          เริ่มจากการลงทุนในหุ้นจนเป็นที่กล่าวขวัญ หุ้น 10 เด้งมีอยู่จริง “มงคล ประกิตชัยวัฒนา”  หรือ  “เซียนฮง”  สถาพร งามเรืองพงศ์    ปั้นพอร์ตแตะหมื่นล้านบาทได้จากหุ้น  KTC  จนกลายมาเป็นชื่อที่ถูกลิสต์อันดับต้นๆ ให้ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอ ไม่ว่าจะเป็น OR - STGT - TEGH - BE8 - DITTO ก็กวาดมาแล้ว

            นอกจากนี้ยังปรากฏรายชื่อที่กลายมาเป็น “นิกเนมรายใหญ่” ขึ้นมามีบทบาทเป็น Corner มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น “หมอพงศ์ศักดิ์  ธรรมธัชอารี”  ที่เข้าลงทุนในหลายตัวที่สร้างปรากฏราคาพุ่งทะยาน ซึ่งเคสล่าสุดหุ้นไอพีโอ  NTSC และ MASTER   

            ก่อนหน้านี้มี  “หมอพงษ์ศักดิ์   “ เข้าไปลงทุนปี 2565 ทั้ง COM7 - NCAP - CHAYO - JMART -JMT - HL และ DOHOME    จนสนิทชิดเชื้อกลายเป็นคู่หูนักลงทุนรวมกับ “ สุระ คณิตทวีกุล”  ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ COM7  และจับมือกันลงทุนเป็นคู่ดูโอ้ไปโดยปริยายจนได้รับฉายา “ทีมเอเวนเจอร์”  

            นอกจากนี้ยังมีคู่หูต่างวัยที่ลงทุนในหุ้นจนกลายเป็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ระหว่าง “บอย ท่าพระจันทร์”  อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย และ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา”    ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกลุ่ม JMART   

           ด้วยคอนเน็คชั่นทางธุรกิจต้องเชื่อมกัน ทำให้  “กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์”  ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ GUNKUL เข้าถือหุ้นใน JMART ด้วยการแลกหุ้นฝ่ายละ 500 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท  เพื่อเข้าร่วมลงทุนใน JGS Synergy Power    

            การวิเคราะห์ลงทุนที่ใจตรงกันเห็นโอกาสทำให้เกิดการถือหุ้นระหว่างกันเกิดขึ้นกับทุกบริษัทในตลาดหุ้น  ยิ่งสัมพันธ์เหนียวแน่นทำให้ราคาหุ้นแข็งแกร่งตามไปด้วย ... แต่อย่างว่าข่าวเซอร์ไพรส์ และคาดไม่ถึงมักจะเป็นของคู่กับตลาดทุน และมักทำให้หุ้นจบรอบได้     

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์