” จีน-สหรัฐ” ชิง “จัดระเบียบโลก” ฐานผลิตมูฟครั้งใหญ่

” จีน-สหรัฐ” ชิง “จัดระเบียบโลก”   ฐานผลิตมูฟครั้งใหญ่

ปมความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์มีความชัดเจนและแบ่งขั้วอำนาจให้เห็นมากยิ่งขึ้นว่าในนาทีนี้ “จีน และ สหรัฐ “ ตัวแทนของชาติมหาอำนาจซีกโลกตะวันออกและตะวันตกสร้างปมชิงผู้นำจัดระเบียบโลก

     ผ่านการแข่งขัน และความขัดแย้งทำให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งเศรษฐกิจแบ่งข้าง   ภาวะเงินเฟ้อ และสงครามทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่มาของการปรับฐานการผลิตครั้งใหญ่ 

      ประเด็นดังกล่าวถือว่ามีความเข้มข้นมาตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี ของสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์ ” ชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบาย  American First  จนกลายมาเป็น สงครามทางการค้า ที่ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าที่มาจากจีนหลังสหรัฐเป็นผู้บริโภคสินค้าอันดับ 1 ของโลก และมีคู่ค้าสำคัญที่ต้องยอมขาดดุลการค้ามาตลอดคือ จีน

      ด้วยข้อได้เปรียบที่จีนเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของโลก ค่าแรงที่ถูก แรงงานจำนวนมหาศาล ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็น “พ่อค้ารายใหญ่ของโลก” ผ่านการส่งออกที่เติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งสหรัฐเริ่มต้นทำสงครามการค้ากับจีนอย่างเป็นทางการด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน การจัดตั้งเวทียุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) โดยไม่ได้มีจีนเข้าร่วม

     ” จีน-สหรัฐ” ชิง “จัดระเบียบโลก”   ฐานผลิตมูฟครั้งใหญ่

     ถัดมาสงครามเทคเริ่มขึ้น เมื่อสหรัฐประกาศแบนสินค้า หัวเว่ย (Huawei)  ด้วยการคว่ำบาตรบริษัท SMIC (Semiconductor Manufacturing International Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยการส่งออกซอฟต์แวร์ และชิปจากสหรัฐ ไปยังบริษัท SMIC จะต้องได้รับใบอนุญาตจากทางการของสหรัฐ  การจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีของสหรัฐระบุถึงความมั่นคงทางทหาร 

       ยังไม่นับรวมไปถึงความอ่อนไหวทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศที่เด่นชัดจากสงครามรัสเซีย –ยูเครน ทำให้เกิดการแบ่งข้างคือ สหรัฐ ยุโรป อีกด้าน รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และอินเดีย   ขณะที่ปัญหาไต้หวันเป็นตัวจุดชนวนความไม่พอใจของทั้ง 2 ขั้วอำนาจ

       สะท้อนได้จากเคสล่าสุดที่สร้างความอ่อนไหวให้กับทั้ง 2 ฝ่ายกรณี “ยิงบอลลูนจีน” ของ กองทัพอากาศสหรัฐหลังลอยอยู่เหนือน่านฟ้าครั้งแรกใกล้รัฐอะแลสกา จนทางการจีนออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงที่สหรัฐใช้กำลังทหารยิงบอลลูนจีน

      ทางจีนไม่ยอมน้อยหน้าด้วยการประกาศ แบนสินค้าบริษัทสัญชาติอเมริกัน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สินค้าผลิตจาก  Apple การแบนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิ้นส่วนประกอบของเทคโนโลยี และอุปกรณ์ไอที อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงไทย

      ยังไม่นับรวมไปถึง ความอ่อนไหวทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่าง 2 ประเทศที่เด่นชัดเฉพาะด้านผลกระทบด้านเศรษฐกิจถือว่ามีความรุนแรงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า กับเผชิญปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง ต้นทุนการผลิตเพิ่ม  ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตชัดเจน

       ข่าวใหญ่เดือนม.ค. Sony Group ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตกล้องถ่ายรูปเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในสหรัฐและยุโรป จากจีนมายังไทย เพื่อลดการพึ่งพาจีนหลังจากความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐเพิ่มขึ้นรวมไปถึงยังมีผลกระทบ  Supply Chain หยุดชะงักบ่อยครั้งจากนโยบาย Zero COVID ของจีน

       ด้าน Apple มีข่าวออกมาตลอดว่า ซัพพลายเออร์หลักเตรียมทดสอบสายการผลิตนอกเหนือจากจีนไปยังเวียดนาม  ทั้งที่สินค้าของ  Apple กว่า 90% ถูกผลิตในจีนมานานกว่าทศวรรษ   รวมไปถึงบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Dell และ Amazon มีข่าวว่ากระจายสายการผลิตจากจีนไปยังเวียดนามบ้างแล้วเช่นกัน

       นอกเหนือจากสินค้าเทคโนโลยี กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นจำนวนมาก อาทิ Adastria Oyama Trading และ Matsuoka Corporation ผู้ผลิตเสื้อผ้าให้บริษัท Uniqlo อยู่ระหว่างย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนไปยังประเทศสมาชิกความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) อาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม และกัมพูชา

       ปัจจัยดังกล่าวธุรกิจนิคมฯ ถือว่ามีผลดีไปโดยปริยาย เพราะในไทยมีการเดินหน้าดึงความได้เปรียบในการเป็น Hub  Supply Chain  ยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งการตั้งฐานผลิตของ BYD จากจีนสะท้อนดีมาร์ทได้ดี 

       บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน และสหรัฐที่ยังมีต่อเนื่อง  และยังมีความคืบหน้า กระทรวงคมนาคมขออนุมัติ ครม. เพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาก่อนหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์(M6) จำนวน 12 ตอน (สัญญา) วงเงิน 4,970 ล้านบาท เพิ่มเติมส่วนที่ได้ประมูล และลงนามกับผู้ว่าจ้างไปแล้ว สร้างโอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI) ระยะถัดไป บวกต่อหุ้นนิคมไทย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์