สัมพันธ์จีน-สหรัฐ ขัดแย้งจริงหรือแค่วาทกรรม?

สัมพันธ์จีน-สหรัฐ ขัดแย้งจริงหรือแค่วาทกรรม?

ระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และขยายวงไปทุกด้านเห็นชัดๆ ตอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำสงครามการค้ากับจีน ชวนให้คิดว่าความขัดแย้งจะรุนแรงกลายเป็นโลกสองขั้วที่บีบให้ประเทศอื่นต้องเลือกข้างหรือไม่

รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจถึงท่าทีของสองมหาอำนาจและสิ่งที่ไทยควรทำในอนาคต 

"สิ่งแรกที่ต้องสถาปนาก่อนคือ สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากของจีน และจีนเป็นเจ้าหนี้ใหญ่สุดของสหรัฐ เพราะฉะนั้นสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอย่างเข้มข้นมาก การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสอง เราชอบมองว่าอันดับสองต้องแข่งกับอันดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐด้วย นี่จึงไม่ใช่ zero sum game เราไม่ควรคิดว่าเพราะจีนเป็นอันดับสอง สหรัฐเป็นอันดับหนึ่งเขาก็เลยแข่งกัน" วาสนาเปิดการสนทนาด้วยมุมมองต่าง  ทุกครั้งที่สหรัฐมีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนเป็นผลจากการเมืองภายในชี้นำการเมืองระหว่างประเทศ อย่างทรัมป์มาพร้อมกับนโยบาย Make America Great Again พยายามบอกว่าสาเหตุที่คนอเมริกันตกงาน เศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี รากหญ้าอเมริกันมีปัญหาเพราะสหรัฐยอมจีนมากเกินไป เป็นความพยายามโทษคนอื่นหรือโทษรัฐบาลก่อนหน้าที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ทำให้ทรัมป์ต้องทำสงครามการค้า

“แต่ถ้าดูจริงๆ การทำสงครามการค้าของทรัมป์เป็น rhetoric ซะมาก ดูง่ายๆ สิ่งที่ไบเดนทำกับปูตินแรงกว่าที่ทำกับจีนมากแต่สิ่งนั้นไม่เรียกว่าสงครามการค้าด้วยซ้ำไป” 

ก่อนรัฐบาลทรัมป์ สหรัฐเคยไม่พอใจจีนมากในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกันเหมือนกันในช่วงเหตุการณ์ 911  ที่สหรัฐเหมารวมว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และพยายามให้จีนเป็นแพะรับบาปจากความล้มเหลวในการบริหารงานภายในประเทศของตนเอง

 จีนก็มีนิสัยอย่างนี้เหมือนกันเวลามีปัญหาภายในประเทศโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงวาระ 2 เข้าสู่วาระ 3 แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ แก้ปัญหาโควิดยังไม่ได้ก็โทษว่าทุกอย่างเป็นความผิดของสหรัฐ

“บอกว่าโควิดจริงๆ แล้วเกิดที่อเมริกานะไม่ได้เกิดที่จีน อเมริกากีดกันต่างๆ แล้วมาเน้นนโยบายชาตินิยมแทนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตนเองและสร้างความนิยมเพิ่มขึ้น”  

นักวิชาการรายนี้สรุปว่า การที่สหรัฐหรือจีนมีท่าทีต่อต้านกันมากขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่า ไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นว่าโลกแบ่งเป็นสองขั้ว หากมองในมุมเศรษฐกิจธุรกิจเกมนี้ไม่ใช่ zero sum game แต่เป็น plus sum game 
 

"แต่ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ความชอบธรรมในอำนาจจึงมาจาก performance ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แล้วสิ่งนี้ปัญหามายาวเหยียดแล้วสิ่งที่ทับทวีคูณเข้าไปอีกคือการจัดการโควิด-19 ที่ยังไม่เรียบร้อย เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่าเขาต้องหาความชอบธรรมอันอื่นเข้ามา ซึี่งแนวโน้มที่จะมุ่งไปในแนวทางชาตินิยมมีมากขึ้นเรื่อยๆ" 

 ความน่ากลัวมีมาตั้งแต่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แสดงตัวชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วแนวโน้มนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ 

“แต่ในวงนักธุรกิจ หรือมือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เราคิดว่าเขาค่อนข้างไม่อยากรบกัน  แนวคิดโลกสองขั้ว ที่ว่า จีนมีปัญหาเพราะอเมริกา อเมริกามีปัญหาเพราะจีนเป็น mentality ของผู้นำทางการเมืองที่จัดการปัญหาในประเทศตนเองไม่ได้ก็ไปโทษคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเศรษฐกิจจีนล่มสลายสหรัฐอเมริกาก็เจ็บมาก ตอนที่ล็อกดาวน์แรกๆ ทุกคนต้องเจ็บปวดเพราะของครึี่งซูเปอร์มาร์เก็ตมาจากจีน ไม่มีใครอยากให้จีนล็อกดาวน์ ทุกคนอยากให้คนจีนออกมา ให้นักเรียนจีนออกมาเรียนในโปรแกรมอินเตอร์ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจีนตอนนี้ไม่เมคเซนส์ว่าอเมริกาทำให้เกิด เพราะสิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่ออเมริกา" 

ส่วนการที่สหรัฐออกกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าถ้าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของจีนไม่มั่นคง สหรัฐก็อาจจำเป็นต้องหาแหล่งอื่น หรือพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเอง เหมือนกับเมื่อรัสเซียบุกยูเครน สหภาพยุโรปก็ต้องหาแหล่งพลังงานที่อื่น ลดการใช้น้ำมันเพราะไม่รู้ว่ารัสเซียจะเลิกส่งน้ำมันให้เมื่อไหร่ 

อย่างไรก็ตามจีนท้าทายสหรัฐในบางเรื่องแน่นอน จีนมีอิทธิพลในทางการเมืองมากขึ้น จีนกับรัสเซียคอยขัดแข้งขัดขาสหรัฐในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่น กรณีซีเรีย อิหร่าน ทำให้สหรัฐเป็นตำรวจโลกไม่ได้เหมือนทศวรรษ 1990 แต่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจจีนดีจะดีต่อสหรัฐอเมริกามากกว่า และทุกคนที่มีใจเป็นกลางย่อมรู้ว่า ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นจะแย่กับทุกคน ดังนั้นไม่มีสงครามดีกว่า

สำหรับจีนวิกฤติที่สุดตอนนี้คือโควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเยอะมาก ที่น่าเป็นห่วงมากคือ

1)เขาผ่อนคลายซีโรโควิดแบบไม่มีวัคซีน mRNA

2) การทำงานของรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลท้องถิ่นแยกกัน และรัฐส่วนกลางมีแนวโน้มจะกล่าวโทษรัฐบาลท้องถิ่นตลอดเวลา ทั้งๆ ที่คำสั่งจากปักกิ่งไม่ชัดเจน” 

การยกเลิกนโยบายซีโรโควิดของจีนนั้นไม่ง่าย คำถามสำคัญตอนนี้ไม่ใช่สหรัฐจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ แต่ต้องถามว่าสหรัฐจะทำอย่างไรเพื่อเตรียมรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นถ้าเศรษฐกิจจีนทรุดไปกว่านี้ซึ่งจะกระทบสหรัฐแน่นอน และสำหรับจีนปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ไม่ใช่มาห่วงว่าสหรัฐจะทำอะไรเพื่อทำร้ายจีน แต่ต้องจัดการกับการยกเลิกโควิดซีโรให้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องมีคนตายมากจนเตาเผาศพพัง

กรณีไต้หวันที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะรบกัน วาสนามองว่า ไม่มีเหตุผลที่จีนจะรบกับไต้หวันเพราะมีผลประโยชน์ระหว่างกันมากมาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะเข้าตาจนจำเป็นต้องผลักนโยบายชาตินิยมออกมามากขนาดไหน กรณีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค.65 ถือว่าเหยียบจมูกสี จิ้นผิง จำต้องแสดงอำนาจเพื่อกู้หน้า แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงมากเป็นการซ้อมรบหลังจากที่เพโลซีไปจากไต้หวันแล้ว ปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหาแบบนั้นอีกเพราะไต้หวันค่อนข้างสบายใจที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น ได้เรือรบจากสหรัฐเข้ามาเพิ่ม โอกาสที่คนไต้หวันจะเลือกพรรคก๊กมินตั๋งเพราะพรรคจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนจึงมีสูงขึ้น  ปีนี้อย่างน้อยสองไตรมาสจีนต้องจัดการกับปัญหาในประเทศ

สำหรับนักธุรกิจไทยอย่าเพิ่งคาดหวังว่ายกเลิกซีโรโควิดแล้วนักท่องเที่ย;จีนจะล้นหลามเหมือนช่วงก่อนโควิด จีนยังมีวิกฤติเศรษฐกิจเป็นความเสียหายจากการใช้นโยบายโควิดซีโรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นคนจีนต้องทำมาหากินกันก่อน 

"ตอนนี้ตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ว่างงาน ซึ่งเป็นตัวเลขของรัฐที่น้อยกว่าความเป็นจริงแน่นอน อยู่ที่ 20% น่ากลัวมาก ถ้าเขาตกงานกัน 20% เขาจะเอาเงินที่ไหนมาเที่ยวเมืองไทย ต่อให้จัดการกับโควิดซีโรจบจีนก็ต้องจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจก่อน  ประชาชาติจีนตอนนี้ไม่มีเงินเหลือพอจะมานวดเท้าที่ห้วยขวาง"

ข้อสังเกตหนึ่งคือในความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐ ไทยมักชอบมองว่าตนเองเป็นกลาง แต่คนอื่นรวมถึงสหรัฐและจีนไม่ได้มองว่าไทยเป็นกลางแต่มองว่าโปรจีน นักวิชาการรายนี้แนะนำว่า น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่นักธุรกิจไทยจะไปสนิทสนมกับชาติตะวันตกบ้าง “ให้เขาเห็นว่า เธอก็รักฉันได้เหมือนกัน ฉันนึกว่าเธอรักจีนอย่างเดียว จีนถึงวันนี้น่าจะเห็นเราเป็นของตาย ขณะที่อีกฝั่งนึงรอเราอยู่ เราก็น่าจะบริหารเสน่ห์ในอีกฝั่งนึงให้มากขึ้น"