ZEN ลุย "ล้างขาดทุนสะสม" 156 ล้าน เกลี้ยงปีนี้ เหตุ รายได้โต 25-30%

ZEN ลุย "ล้างขาดทุนสะสม" 156 ล้าน เกลี้ยงปีนี้ เหตุ รายได้โต 25-30%

ZEN ตั้งเป้าปีนี้ล้างขาดทุนสะสมที่มี 156 ล้าน เกลี้ยง มั่นใจรายได้ปีนี้โต 25-30% จากยอดขายสาขาเดิมโต 15-20% - เปิดสาขาใหม่ 90 สาขา รุกต่างจังหวัด พร้อมปรับแบรนด์เป็น Mass วางเป้าปี 68 รายได้ 7 พันล้าน สาขาเพิ่มเป็น 700 สาขา เน็ตมาร์จิ้นแตะ 8%

ด้วยสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ ส่งผลดีเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ คือ ธุรกิจร้านอาหาร อย่าง บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ ZEN เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารทั้งแบรนด์หลัก และแบรนด์ย่อยรวม 12 แบรนด์ 

ประกอบกับใช้โอกาสช่วงโควิดแพร่ระบาด"จัดทัพ" ภายในในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การเพิ่ม Productivity  และบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น  ทำให้สามารถฝ่าวิกฤติราคาพลังงาน และเงินเฟ้อพุ่งมาได้ สะท้อนจากผลการดำเนินงานที่พลิกกลับมามีกำไรติดต่อกันถึง 4 ไตรมาส!!  (ไตรมาส 4/2564 - ไตรมาส 3/65) 

ส่งผลให้งวด 9 เดือนปี 2565  มีรายได้รวม 2,467.57 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ  99.18 ล้านบาท หลังปี 2563 และ 2564 ที่ขาดทุน 63.66 ล้านบาท และ 91.57 ล้านบาท ตามลำดับ และเป็นระดับกำไรที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด(ปี 2562)ที่มีกำไรสุทธิ 106.22 ล้านบาท และนักวิเคราะห์ต่างคาดว่ากำไรสุทธิของ ZEN ในปี 2565 ที่กำลังจะประกาศออกนิวไฮ และปีนี้ก็ยังทำนิวไฮ!!ต่อเนื่อง

 บุญยง ตันสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ ZEN  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้ (2566-2568)ว่า กลยุทธ์การเติบโตของเซ็น กรุ๊ป จะมาจาก 5 เสาหลัก คือ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจออนไลน์ และการร่วมทุน (JV)หรือทำM&A ที่จะผลักดันรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 25-30% ไปแตะระดับ 7,000 ล้านบาท ในปี 2568 และมีอัตรากำไรสุทธิ(เน็ตมาร์จิ้น)แตะระดับ8% จาก 9 เดือนปีก่อนอยู่ที่ 4.5%

สำหรับธุรกิจเสาแรก คือ ร้านอาหาร   ซึ่งรายได้ 70% จะมาจากยอดขายสาขาเดิมโตระดับ15-20%  เนื่องจากบริหารพื้นที่ร้านให้มี Traffic หรือลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ต่อตารางเมตรให้มากขึ้น ทั้งการขยายพื้นที่ร้าน การเสริฟอาหาร-เก็บจานให้เร็วขึ้นด้วยการนำหุ่นยนต์มาใช้  จัดโปรโมชัน การให้บริการที่ดี และเราดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น รวมถึงปรับหน้าร้านเพื่อขายน้ำให้ลูกค้าสามารถซื้อกลับบ้านได้

ส่วนรายได้อีก 30% มาจากเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 90-100 สาขา ทำให้สิ้นปี 2568 จะมีสาขาอยู่ที่ 700 สาขา จากสิ้นปี 2565 มีจำนวน 372 สาขา ซึ่งในปีนี้จะขยายสาขาใหม่ 90 สาขา โดย 80% จะเปิดในต่างจังหวัด แบ่งเป็นเจ้าของสาขาเอง 41 สาขา ให้สิทธิแฟรนไชส์  48 สาขา  และสาขาต่างประเทศอีก1 สาขา 

 นอกจากนี้บริษัทจะปรับแบรนด์ร้านอาหารให้เป็น Mass เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น  เช่น แบรนด์ ZEN, AKA, ตำมั่ว ลาวญวน ที่จะเป็นแบรนด์ที่ขยายมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร ZEN ที่ไปเปิดต่างจังหวัดนั้นจะไม่เน้นซูชิ ซาซิมิ แต่จะเน้นเทมปุระ แทนเพราะคนต่างจังหวัดไม่ชอบรับประทานปลาดิบ และขนาดสาขาจะเล็กลง 

“ ในช่วง3 ปีนี้เน้นโตแบบOrganic จากขยายแบรดน์อาหารของเราที่มี ให้มียอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น15-20% ซึ่งดีกว่าการเข้าไปซื้อกิจการแบรนด์ใหม่ เพราะมองว่ามีความเสี่ยงซึ่งในปี 2565 พุ่งแรง เพราะมาจากฐานที่ต่ำ"

 บุญยง กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีกับบริษัท เพราะเรามีร้านอาหารกระจายในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ  เช่น สมุย  เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ฯลฯ จึงคาดว่าสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีราว 25% จะกลับมาในปีนี้ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้ว 

 รวมถึงบริษัทจะมีการบริหารจัดการต้นทุนให้ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้กระดาษ การแนะนำลูกค้าชำระค่าอาหารผ่านการโอน หรือผ่านคิวอาร์ ฯลฯ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับค่ายบัตรเครดิตต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบวิเคราะห์การใช้วัตถุดิบในแต่ละเมนูอาหารเพื่อลดของเสีย หนุนรายได้ของเราในปีนี้

สำหรับธุรกิจเสาที่ 2 แฟรนไชส์ ซึ่งการขยายแฟรนไชส์นั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงเศรษฐกิจดีการให้สิทธิแฟรนไชส์มากขึ้น อย่างเช่น ในช่วงโควิดเราขยายสาขาเองถึง 70-80%  เพราะผู้ที่จะเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ติดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี ทำให้การเปิดสาขาใหม่ปีนี้ 90 สาขา จะเป็นสัดส่วนแฟรนไชส์ 50%

 ธุรกิจเสาที่ 3 ค้าปลีก  หลังจากเข้าไปร่วมทุนใน บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด  หรือZKC  ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส เช่น  น้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริก และ เครื่องปรุงรสต่างๆ จำหน่ายทั้งค้าปลีก และค้าส่งในประเทศและต่างประเทศ โดย ZKC มีแผนขยายการผลิตเครื่องปรุงรสสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่น และอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น และอีกบริษัทที่เข้าไปร่วมทุนคือ บริษัท King Marine(KMF) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาแซลมอน แต่หลังจากนี้จะเพิ่มนำเข้าเนื้อสัตว์ประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น เนื้อวัวออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายในร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ 

 ธุรกิจเสาที่ 4 ออนไลน์  ซึ่งยอดขายอาหารดิลิเวอรี และการขายสินค้าในธุรกิจค้าปลีก เช่น  น้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว ใน shopeeและ Lazada ซึ่งเดิมมีรายได้ปีละ 500 ล้านบาท  แต่ปีนี้เทรนด์จะไม่เติบโต เพราะ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น ทำให้สั่งซื้อของผ่านออนไลน์ลดลง และธุรกิจเสาที่ 5 การร่วมทุน(JV)หรือการควบรวมและซื้อกิจการ(M&A) นั้นจะต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าในช่วง 2 ปีจากนี้จะเน้นการเติบโตจาก 4 เสาแรกเป็นหลัก 

สำหรับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปีนี้และระยะต่อไป คือ ราคาพลังงานที่สูง  จะกระทบมากกับภาคธุรกิจ ต้องติดตาม และอีกความท้าทายของธุรกิจอาหารคือ การบริหารคน และการรักษาคน เพราะลูกค้าให้ความสำคัญเรื่องของบริการ จึงได้ลงทุนในการพัฒนาคน ดังนั้นถ้าเรารักษาพนักงานได้นานเท่าไร เราก็จะรักษาฐานลูกค้าได้นานเท่านั้น  เพราะหากมีการปรับเปลี่ยนพนักงาน จะทำให้บริการเปลี่ยน รสชาติอาหารก็เปลี่ยน 

ดังนั้นเซ็น กรุ๊ป  ได้มีการหล่อหลอมผู้บริหาร นอกจากขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ยังต้องให้ความใกล้ชิดพนักงาน เขามาให้คำแนะนำ รับฟังปัญหา และแก้ปัญหา เพื่อให้พนักงานมีความสุข และสนุกในการทำงาน ซึ่งส่วนตัวมองว่าวิธีนี้มีค่ามากกว่าการใช้เงิน เพราะเงินไม่สามารถที่จะรักษาคนไว้ได้

ท้ายสุด บุญยง กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานปี 2566 คือ ล้างขาดทุนสะสมที่มี 152 ล้านบาท ให้หมดในปีนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีโอกาสด้วยแผนการดำเนินธุรกิจที่จะหนุนรายได้โต 25-30% จากปี 2565 ที่ระดับ 3,000 กว่าล้านบาท และคาดเน็ตมาร์จิ้นปีนี้จะเกิน 5%

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์