“เร่ง”เขย่าโครงสร้าง THCOM ปูทางเข้าสู่ธุรกิจ “ดาวเทียม” รอบใหม่
การเปลี่ยนแปลง “พลิก” หลังมือเป็นหน้ามือ และอาจจะกลายเป็นหุ้นม้ามืดคว้าผลตอบแทนจากราคาหุ้น “พุ่งสุดโต่งหรือลงสุดขีด” บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กลายเป็นบริษัทย่อย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF สมบูรณ์ปี 65
หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่ม “เทมาเส็ก” ตกอยู่ในมือของ GULF ผ่านการถือหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH สัดส่วน 41.15 % ทำให้ THCOM กลายเป็นลูกครึ่งไทย จากเดิมคือต่างชาติ จน GULF เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดที่ INTUCH ถือทั้งหมดใน THCOM ทำให้เป็นบริษัทไทยเต็ม 100 %
จากมติที่ประชุมบอร์ด INTUCH อนุมัติ “ขายหุ้น” ที่ถือทั้งหมดใน THCOM รวม 450 ล้านหุ้น คิดเป็น 41.13 % ให้บริษัทย่อย ของ GULF ในราคาหุ้นละ 9.92 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4,472.64 ล้านบาท
รายงานดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ส่งผลทำให้ THCOM “ปลดล็อก” การเป็นบริษัทต่างด้าวกลายเป็นไทยแท้ 100 % ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ INTUCH เร่งให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นแบบทันทีด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษ วันที่ 28 ธ.ค. 2565 ที่อัตราหุ้นละ 1.40 บาท มีการขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 ม.ค. 2566 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 27 ม.ค. 2566
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่า “รวดเร็ว ” และ “รวบรัด” เพื่อดำเนินการให้ทันกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ (รอบใหม่) ของ THCOM เลยก็ว่าได้
ที่ผ่านมา THCOM เผชิญมรสุมลูกใหญ่ช่วงปี 2563-2564 จากการดำเนินธุรกิจที่เป็นสัมปทานดาวเทียมเพียงแค่รายเดียวทั้ง 8 ดวง หลังนโยบายภาครัฐเปลี่ยนแปลงไม่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานและการฟ้องร้องจากภาครัฐในการคืนดาวเทียม
ปัญหาหนักสุดคือดาวเทียมไทยคม 5 ที่มีสัญญาหมดอายุปี 2564 แต่อายุการใช้งานหมดลงในกลางปี 2563 ที่ ซึ่งภาครัฐไม่ต่ออายุสัญญาให้จึงทำให้ดาวเทียมดวงนี้มีปัญหากรณีต้องคืนดาวเทียมกลับไปให้กระทรวงดีอีเอส เป็นเงิน 7,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้้ย 7.5 % ตั้งแต่ 30 ต.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ถัดมาดาวเทียมไทยคม 6 แม้ไม่มีประเด็นดังกล่าวแต่ใกล้หมดอายุปี 2564 เช่นกัน ส่วนไทยคม7-8เป็นดาวเทียมที่มีอายุหมดสัญญาก.ย.2564 เช่นกัน แต่มีข้อพิพาษฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการว่าสัญญาดังกล่าวกระทรวงดีอีเอสระบุเป็นเงื่อนไขภายใต้สัปทาน สวนทางกับบริษัทมองว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทกับ กสทช. จนต้องยื่นคำร้องขอและศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช.ออกไปก่อน
แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวทำให้ธุรกิจชะงักเกิดความไม่แน่นอนด้านรายได้เพราะดาวเทียมดวงใหม่ไม่เกิด ส่วนที่มีอยู่ทยอยหมดอายุและติดคดีความ จนเป็นที่มาทำให้ผลประกอบการของ THCOM ไม่มีการเติบโตจากรายได้ที่หดตัวลดลงต่อเนื่อง
จากปี 2561 ที่ 6,218 ล้านบาท มีกำไร 229 ล้านบาท ,ปี 2562 รายได้ 5,000 ล้านบาท ขาดทุน 2,249 ล้านบาท ,ปี 2563 รายได้ 4638 ล้านบาท กำไร 513 ล้านบาท , ปี 2564 รายได้ 3,505 ล้านบาท กำไร 143 ล้านบาท และในงวด 9 เดือน รายได้ 2,322 ล้านบาท กำไร 480 ล้านบาท
ช่วงดังกล่าว THCOM ยังไม่สามารถคาดหวังพลิกสถานการณ์ได้เพราะเงื่อนไขที่จะ “ปลดล็อก” วัฎจักรธุรกิจใหม่ คือ การเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ทำให้ THCOM เข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโครจต่ำ (Low Earth Orbit หรือ LEO) และโดรน เพื่อให้บริการในประเทศไทย มีภายใต้บริษัทย่อย “ทีซี สเปซ คอนเน็ต ” เข้าร่วมการประมูล สุดท้ายเจอโรคเลื่อน 2 รอบ จาก จากวันที่ 24 ก.ค. 2564 เป็น 28 ส.ค. 2564 และถูกยกเลิกในท้ายที่สุดหลังไม่มีรายใดเข้าร่วมประมูลด้วย
ท้ายปี 2565 กสทช. จัดประมูลอีกครั้งด้วยยื่นเอกสารซึ่งแน่นอนว่าย่อมมี THCOM เข้าร่วมด้วยการยื่นเป็นรายแรกภายใต้ “สเปซ เทค อินโนเวชั่น “ นอกจากนี้ยังมีรายอื่นที่เข้าร่วมยื่นเอกสารประมูล “ พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส” และ “โทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ NT และยังมีคู่แข่งที่สูสี “แอสเซนด์ แคปปิตอล” เป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม “ทรู “
หากไล่จากไทมไลน์กสทช. จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 9 ม.ค. 2566 หากมีผู้ยื่นที่ผ่านคุณสมบัติมากกว่า 1 ราย จะดำเนินการจัดให้มีการประมูลในวันที่ 15 ม.ค. 2566 แต่หากตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวจะขยายวันรับเอกสารออกไปอีก 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2566
เท่ากับจะได้ผู้ประกอบการที่ผ่านการประมูลอย่าง “รวดเร็ว แบบไม่ให้สะดุด” ภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2566 !!