ตลาดทุนเคลื่อนไหว จี้รัฐทบทวนภาษีหุ้นด่วน หวั่นตลาดพัง

ตลาดทุนเคลื่อนไหว จี้รัฐทบทวนภาษีหุ้นด่วน หวั่นตลาดพัง

คนตลาดทุนเคลื่อนไหวค้านเก็บภาษีหุ้น “เฟทโก้” เร่งหารือสมาชิกทำสมุดปกขาวร้องรัฐทบทวนด่วน ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย เหตุทำวอลุ่มซื้อขายหด ยอดภาษีไม่เข้าเป้า ทั้งยังทำขีดแข่งขันตลาดหุ้นไทยลดลง  

แวดวงตลาดทุนแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 อนุมัติการเก็บภาษีขายหุ้น หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่.. พ.ศ. ....

โดยการเก็บภาษีขายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% ซึ่งเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในปีแรกจะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น และจะจัดเก็บเมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลปีละ 1.8 - 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ โลกโซเชียลเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นของรัฐบาล ล่าสุดมีสมาชิกรายหนึ่งตั้งกระทู้ในเว็บ “พันทิป” เสนอให้รายย่อยรวมพลังเม่าหยุดเทรด 1 วัน เพื่อแสดงพลังคัดค้านการเก็บภาษีขายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม ในวันที่ 8 ธ.ค. 2565 โดยวันดังกล่าวอยากเห็นมูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้) เปิดเผยว่า เฟทโก้ และตลาดทุนไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้เก็บภาษีขายหุ้น และกำลังมีการหารือกันภายในกับสมาชิกของเฟทโก้ และองค์กรในตลาดทุนถึงทางออกที่จะเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว

“เฟทโก้เคยหารือกับรัฐมนตรีคลังหลายครั้ง และได้เสนอถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา หากมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้น”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้น เป็นนโยบายที่กระทบต่อคะแนนเสียง เป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย ในช่วงที่เศรษฐกิจการเงินโลกกำลังผันผวน ในวันที่เศรษฐกิจมีวิกฤติรออยู่ข้างหน้า เมื่อมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จากธุรกรรมการซื้อขายก็จะหายไปด้วย ในขณะที่สิงคโปร์ กำลังไปสู่การไม่เก็บภาษีขายหุ้น แต่การที่ไทยเก็บภาษีขายหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยขาดความน่าสนใจ

สำหรับ 7 สมาคมที่เป็นสมาชิกของเฟทโก้ ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)

 

‘ไพบูลย์’ชี้ต้นทุนต่างชาติพุ่ง167%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มีมุมมองประเด็น ครม.ได้เห็นชอบให้มีการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% ว่า เป็นการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10%

โดย ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดนักลงทุนกลุ่มที่จะชะลอการซื้อขายมากที่สุดคือ กองทุนต่างประเทศ ที่ในปัจจุบันมีต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.06% (ค่าธรรมเนียมซื้อ + ขายรวมกัน) การเก็บภาษีขายหุ้นที่ 0.10% จะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 167% นักลงทุนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการซื้อขายรายวันสูงถึง 40 - 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2566 เราอาจจะโชคดีมีเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย มันยังสามารถทำกำไรได้อยู่ แต่ว่าเป็นเรื่องของระยะสั้น ๆ และอย่างที่หลายฝ่ายมองว่าปีหน้าตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกของในด้านเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวโดดเด่น หลังจากเปิดประเทศนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยจำนวนมาก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามดูผลกระทบประเด็นการเก็บภาษีขายหุ้นในระยะยาวก่อน ว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจ ทำให้การระดมทุนในตลาดหุ้นทำได้ยากขึ้นหรือไม่นั้น เพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินของการระดมทุนสูงขึ้น แต่ระยะสั้นจะกระทบในเรื่องของวอลุ่มเทรดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“กลุ่มนักลงทุนที่จะได้รับผลกระทบภาษีขายหุ้นจะเป็นกลุ่มต่างชาติที่เทรดระยะสั้นๆ ซึ่งจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวอยู่แล้ว ฉะนั้น อะไรก็ตามถ้าเกิดราคามันแพงขึ้นขนาดนั้น เขาก็ต้องไปทบทวนดูว่าเขาจะยังเทรดต่อ หรือไปเทรดที่อื่น ดังนั้น จะส่งผลให้ปริมาณความถี่ในการซื้อขายลดอย่างแน่นอน”

‘จิตตะ’ ชี้ต้นทุนเพิ่มทำเสน่ห์หุ้นไทยลดลง

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะมีรายการค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนต้องแบกรับเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รายการ ในกรณีมีการขายหุ้นไทยออกจากพอร์ต นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (Trading Commission) ซึ่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนคือ เมื่อการลงทุนในหุ้นไทยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ความน่าสนใจของหุ้นไทยลดลงไปบ้าง และส่งผลให้นักลงทุนหันไปมองหาการลงทุนทางเลือก รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม  การที่ต้นทุนการขายหุ้นเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้นักลงทุนพิจารณามากขึ้นก่อนจะตัดสินใจขายหุ้นออกไป หากมองในมุมที่ดีก็จะถือเป็นการสร้างนักลงทุนคุณค่าหรือนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น ส่วนกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นหรือ Day Trade อาจจะต้องทบทวน และปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของ บลจ. จิตตะ เวลธ์ ปัจจุบันมีแผนการลงทุน Jitta Ranking หุ้นไทย เป็นหนึ่งในนโยบายการลงทุน Jitta Ranking ที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีให้เลือกถึง 8 แผนการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปในตลาดที่หลากหลายสามารถเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ทั้ง สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม เป็นต้น

โดยนโยบายของ Jitta Ranking หุ้นไทยจะเน้นการคัดเลือกลงทุนหุ้นดีราคาถูกในตลาดหุ้น SET และ MAI อย่างน้อย 5-30 ตัว และจะมีการปรับพอร์ตตามระยะเวลาที่กำหนด ทุก 3 เดือน เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาด

บลจ.จิตตะ เวลธ์ จะต้องปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐอย่างแน่นอน และการที่ บลจ.จิตตะ เวลธ์ เป็นผู้ให้บริการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น และนโยบายการลงทุนของจิตตะ เวลธ์จะมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก การขายหุ้นในพอร์ตจึงไม่ได้มีการดำเนินการบ่อยครั้งนัก หรือจะมีการปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือน หรือหากพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่เห็นการปรับพอร์ตในบางช่วงได้ ดังนั้นผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้นที่ลูกค้าได้รับจึงมีอยู่จำกัด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์