AOT ผู้โดยสารแน่นรับไฮซีซัน ลุ้นยกเลิกส่วนลดค่าเช่า

AOT ผู้โดยสารแน่นรับไฮซีซัน ลุ้นยกเลิกส่วนลดค่าเช่า

การท่องเที่ยวไทยเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน หนุนบรรยากาศการเดินทางทั่วประเทศกลับมาคึกคัก ยิ่งขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาสัมผัสความสวยงามของประเทศไทย

โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักมาจากเพื่อนบ้านในอาเซียน เอเชียตะวันออก อินเดีย ส่วนกลุ่มยุโรป สหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง และน่าจะหนีหนาวเดินทางเข้ามาเที่ยวมากขึ้นในช่วงปลายปี 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมปีนี้ทะลุ 7 ล้านคนแล้ว และคาดว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะมีต่างชาติเข้าไทยอีกไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน/เดือน ดังนั้น เป้าหมายนักท่องเที่ยวรวมทั้งปี 10 ล้านคน ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน 

ส่วนปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มเป็นเท่าตัว 20 ล้านคน หรือ ราวๆ ครึ่งหนึ่งของปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 และตั้งเป้ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 2.39 ล้านล้านบาท จากปีนี้ที่คาดทำได้ 1.5 ล้านล้านบาท

หากถามว่าการท่องเที่ยวไทยเวลานี้คึกคักแค่ไหน? ดูได้จากบรรยากาศในสนามบิน ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมาปรากฏภาพในโลกออนไลน์ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าแถวยาวเหยียดรอตรวจหนังสือเดินทางหน้าด่าน ตม.สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีผู้โดยสารขาเข้ามากถึงชั่วโมงละ 3,000-4,000 คน จนต้องมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทาง

สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงคมนาคม รายงานตัวเลขผู้โดยสารระหว่างประเทศในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาปรับตัวคึกคัก โดยมียอดผู้โดยสารเข้า-ออกทั้งระบบรวม 3,159,609 คน เพิ่มขึ้น 43.55% จากเดือน ก.ย. 2565 และเพิ่มขึ้น 151.36% จากค่าเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565

แบ่งเป็น ผู้โดยสารขาเข้า 1,622,465 คน เพิ่มขึ้น 157.63% จากค่าเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565 ที่มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละ 629,772 คน ซึ่งแน่นอนว่าทางอากาศยังเป็นช่องทางหลักในการเดินทางเข้าประเทศ 

โดยช่วงเดือน ต.ค. มีปริมาณผู้โดยสารทางอากาศรวม 3,031,971 คน เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565 ซึ่งมีผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละ 1,229,399 คน หรือ เพิ่มขึ้น 146.62% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ย. 2565 ที่มีผู้โดยสาร 2,125,255 คน พบว่าผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 906,716 คน หรือ เพิ่มขึ้น 42.66%

AOT ผู้โดยสารแน่นรับไฮซีซัน ลุ้นยกเลิกส่วนลดค่าเช่า

โดยสุวรรณภูมิยังเป็นสนามบินหลัก มีปริมาณการเดินทางรวม 2,261,094 คน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 75% สนามบินดอนเมือง 421,707 คน คิดเป็น 14% และสนามบินภูมิภาค 349,170 คน คิดเป็น 11% และแน่นอนว่าหากจีนเปิดประเทศเมื่อไหร่ จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าจะยิ่งมากกว่านี้

เมื่อบรรยากาศการเดินทางกลับมาคึกคัก ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการสนามบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เจ้าของสัมปทานสนามบิน 6 แห่งของประเทศ ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และหาดใหญ่ รวมทั้ง ล่าสุดได้รับสิทธิในการบริหารสนามบินอีก 3 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน

ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ มีกระแสข่าวสะพัดว่ากรมธนารักษ์จ่อยุติการให้ส่วนลดค่าเช่ากับ AOT จากปัจจุบันที่ให้ส่วนลดอยู่ 50% จากอัตราปกติ 2.8 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า

เนื่องจากต้องไปดูด้วยว่าขณะนี้แต่ละสนามบินยังคงให้ส่วนลดกับผู้เช่ารายย่อยอยู่หรือไม่? ถ้ายังให้อยู่ อัตราเท่าไหร่? แต่ถ้าไม่ได้ให้ส่วนลดแล้ว AOT ก็ควรต้องกลับมาจ่ายค่าเช่าในอัตราปกติ

โดยบล.ดาโอ ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันประเมินว่า AOT จะกลับมาจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุในอัตราเดิม หลังจากสิ้นสุดการให้ส่วนลดกับผู้ประกอบการและสายการบินในช่วงเดือน เม.ย.ปี 2566 

ขณะที่ในด้านงบการเงินจากการปรับไปใช้ TFRS16 ตั้งแต่งวดปี 2564 ทำให้มีการเปลี่ยนบันทึกค่าใช้จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุโดยจะเป็นการทยอยตัดค่าเสื่อมราคาตามอายุการเช่า ทำให้แม้ว่าจะมีการยกเลิกให้ส่วนลดค่าเช่าลงจะไม่มีผลต่อประมาณการกำไรในงวดปี 2566 แต่จะมีผลกระทบต่อกระแสเงินสด

ขณะเดียวกันประเมินว่าผลการดำเนินงานปกติจะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยงวดไตรมาส 4 ปี 2565 (ก.ค.-ก.ย. 2565) จะขาดทุนลดลงเหลือ 1.3 พันล้านบาท เทียบกับงวดไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ขาดทุน 4.2 พันล้านบาท และไตรมาส 3 งวดปี 2565 ที่ขาดทุน 2.4 พันล้านบาท

ส่วนปี 2566 (ต.ค.-ก.ย. 2566) ผลการดำเนินงานปกติจะพลิกเป็นกำไรได้ 6.8 พันล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่จะฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 90 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้น 88% YoY แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 200% YoY และผู้โดยสารในประเทศ 48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 42% YoY ตามการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น