นโยบายการเงิน ในยุค ‘ศก.ไทย’ ป่วยหนัก แค่ลดดอกเบี้ยพอหรือไม่?

"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ "ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้บริหารจากธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อมุมมองเศรษฐกิจไทย การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และหนี้ครัวเรือน
ท่ามกลางความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นจากระเบียบการค้า และระเบียบโลกที่เปลี่ยนไปหลังจากการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในรายงานเศรษฐกิจฉบับล่าสุดในเดือนเม.ย.ว่า กลุ่มประเทศในอาเซียน (รวมทั้งประเทศไทย) มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ
นั้นจึงไม่แปลกที่หลายสำนักวิจัยจะออกมาปรับลดการเติบโตของประเทศไทยลงเพราะพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนกว่า 60-65% ของจีดีพี เช่น ไอเอ็มเอฟมองว่าไทยจะโตได้เพียง 1.8% ในปีนี้ และ 1.6% ในปีหน้า ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็เพิ่งจะออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตจีดีพีไทยเหลือ 1.8% เช่นเดียวกัน แม้ว่าในไตรมาสหนึ่งจะรายงานว่าเติบโตได้ 3.1% ก็ตาม
แต่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยนั้นไม่ได้มีแค่ “ปัญหาเฉพาะหน้า” อย่างภาษีทรัมป์เท่านั้น เพราะหนึ่งปัญหาเรื้อรังที่กดดันเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนานตามที่ “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้บริหารจากธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.68 คือ “หนี้ครัวเรือน”
"หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังที่เราพูดกันมานาน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก และแม้จะผ่านวิกฤติดังกล่าวมาแล้ว ตัวเลขล่าสุดยังคงอยู่ที่ 88.4% ของ GDP ลงมาเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งงานวิจัยจากจุฬาฯ เปิดเผยว่าหากรวมหนี้นอกระบบเข้ามาด้วยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงเกิน 100% แล้ว ซึ่งหมายความว่าภาระหนี้ที่ต้องจ่ายมีมูลค่ามากกว่าความสามารถในการหารายได้มาชำระคืน" ดร.สมประวิณ กล่าว พร้อมเสริมว่า “ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้”
เมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน อดีตนายแบงก์ผู้นี้ ตอบว่า การลดหนี้ครัวเรือน (Deleveraging) เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา โดยจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก กระบวนการลดหนี้ใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มกระบวนการนี้ได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น
นักเศรษฐศาสตร์จากแมคเคนซี เคยระบุว่า การนับว่ามีการลดหนี้อย่างแท้จริงต้องเกิดการลดหนี้ติดต่อกัน 3 ปี และสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลงได้ถึง 10% ซึ่งประเทศไทยยังไม่บรรลุเกณฑ์นี้
คำถามที่ตามมาคือ ผลกระทบของการที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคืออะไร ดร.สมประวิณ กล่าวโดยอ้างอิงงานศึกษาของ Bank for International Settlements (BIS) ว่า เมื่อหนี้สูงเกินไป จะส่งผลต่อรายได้ และรายจ่าย เนื่องจากประชาชนต้องนำรายได้ไปชำระหนี้แทนที่จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง ซึ่งสัญญาณนี้เริ่มเห็นแล้ว โดยสภาพัฒน์ออกมาเปิดเผยว่า การบริโภคเติบโตน้อยลงกว่าไตรมาสก่อนหน้า
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
ดร.สมประวิณ เปรียบเทียบกระบวนการแก้หนี้ว่ามี 2 แบบ คือแบบ "เจ็บปวด" (Painful) และแบบ "ดีต่อสุขภาพ" (Healthy) เหมือนคนที่ต้องการลดน้ำหนัก:
1. แบบเจ็บปวด : เปรียบเสมือนการงดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งทำให้ไขมันหายไปแต่ทรมาน ในทางเศรษฐกิจคือ การบีบไม่ให้เกิดหนี้ใหม่
2. แบบที่ดีต่อสุขภาพ : เปรียบเสมือนการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสุขภาพ ในทางเศรษฐกิจคือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้
"การแก้หนี้ที่ดีที่สุดควรเป็นส่วนผสมของทั้งสองแนวทาง" ดร.สมประวิณ กล่าว "การบีบไม่ให้ก่อหนี้อย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ อาจเป็นปัญหาสังคมหรือการเมือง เพราะคนไม่มีรายได้แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ในขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจดีแต่ยังคงก่อหนี้ที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ช่วยให้หนี้ลดลง"
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การลดหนี้เกิดขึ้นได้ประกอบด้วย 4 ประการ ได้แก่ :
- เงื่อนไขตั้งต้น : สถานการณ์หนี้ของไทยสูงมาก ทำให้ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี หรือต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ : หนี้จะลดลงได้เมื่อมีรายได้มาชำระ จึงต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต
- นโยบายที่สอดประสานกัน (Policy Coordination) : นโยบายการเงิน และการคลังต้องทำงานควบคู่กันเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ โดยทั้งสองนโยบายควรผ่อนคลาย (Supportive Policy)
- นโยบายสินเชื่อ (Credit Policy): ต้องมีกลไกที่ทำให้การก่อหนี้ในอนาคตเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ
บทบาทของ 'แบงก์ชาติ' และ 'นโยบายการเงิน'
นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันเศรษฐกิจ และประชาชนไทยอย่างหนักแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ “ผิดฝาผิดตัว” ในปัจจุบันคือเศรษฐกิจเติบโตต่ำ เงินเฟ้อก็ต่ำ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับรู้สึกว่า “ข้าวของแพงขึ้น” ในประเด็นนี้อดีตนายแบงก์ผู้นี้ แสดงความคิดเห็นถึงความผิดปกตินี้ว่า เกิดจากความแตกต่างในตะกร้าสินค้าที่แต่ละกลุ่มบริโภค โดยเฉพาะคนมีรายได้ต่ำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนกลุ่มนี้บริโภคอาหารในสัดส่วนสูงถึงเกือบ 50% ของค่าใช้จ่าย และราคาอาหารมักปรับตัวเร็วกว่าสินค้าอื่น (ปรับขึ้นเร็ว ปรับลงช้า)
"เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น คนทั่วไปจะรู้สึกได้มากกว่า เพราะสิ่งที่เขาบริโภคส่วนใหญ่มีราคาแพงขึ้นนั้นคือ อาหาร" ดร.สมประวิณ กล่าว
จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งหมด การดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงควรพิจารณา “ความไม่สมมาตร” หรือ Asymmetric ของเงินเฟ้อนี้ด้วย ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลขเงินเฟ้อเท่านั้น ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงแต่เงินเฟ้อต่ำ ดร.สมประวิณ เสนอให้นโยบายการเงินควรผ่อนคลายมากขึ้น (Easing) เพื่อช่วยด้านรายได้ และกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีผลสำคัญ 2 ประการ :
1. สร้าง Sentiment ที่ดี : ในภาวะที่หลายคนรู้สึก "no hope" กับเศรษฐกิจไทย การมีนโยบายที่ถูกผลักดันออกมาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการสร้าง "floor" ของการหมุนลงของเศรษฐกิจ
2. มีผลต่อการคาดการณ์ : หากมีการส่งสัญญาณชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยเป็น "easing cycle" ไม่ใช่การลดครั้งเดียว จะมีผลต่อการคาดการณ์ของระบบสถาบันการเงิน และทำให้การส่งผ่านนโยบาย (pass through) มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.สมประวิณ มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังส่งสัญญาณไม่ชัดเจนพอ โดยกล่าวว่า "กนง. พูดว่าเรายังไม่เข้าสู่โหมด easing cycle" แม้จะมีแนวคิดว่าควรเก็บ "กระสุน" ไว้ใช้เมื่อเกิดวิกฤติ แต่ ดร.สมประวิณ เห็นว่านโยบายการเงินควรทำงานบนวัฏจักรเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดวิกฤติเท่านั้น
"การลดอัตราดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะเมื่อมีวิกฤติ เราสามารถใช้ดอกเบี้ยทำงานในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขาลงได้" ดร.สมประวิณ กล่าว
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เงินเฟ้อประมาณการอยู่ที่ราว 0.7-0.8% ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตประมาณ 1.5-1.8% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพที่ควรอยู่ที่ประมาณ 2.5% ดร.สมประวิณ จึงเห็นว่า ธปท. สามารถลดดอกเบี้ยได้อีก โดยอาจลดลงได้ถึง 0.75-1.00% อีกเพราะมีแนวโน้มว่าจะมีดาวน์ไซด์จากเงินเฟ้อในอนาคต
เครื่องมือทางการเงินอื่นนอกเหนือจาก 'ดอกเบี้ย'
ดร.สมประวิณ ชี้ว่า นโยบายการเงินไม่ได้มีเพียงการปรับดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ควรพิจารณาเครื่องมืออื่นๆ ด้วย โดยในช่วงโควิด-19 ธปท. ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า "Integrated Policy Framework" ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน
"เราต้องซักซ้อมภายใต้ Integrated Policy Framework แบบนั้น เหมือนเป็น Business Contingency Plan ว่าหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราจะตอบสนองอย่างไร บทบาทหน้าที่ของแต่ละนโยบายจะทำอะไร และสอดประสานกันอย่างไร" ดร.สมประวิณ กล่าว
นอกจากนี้ “การสื่อสาร” ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ดร.สมประวิณ อธิบายว่าการทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดทำได้ผ่านการกระทำ และความน่าเชื่อถือ (credibility) ซึ่งความน่าเชื่อถือเกิดจากการสื่อสารที่ดี
"การสื่อสารที่ดีไม่ใช่แค่สื่อสารผลการประชุม แต่ต้องบอกหลักคิด บอก logic ว่าอะไรขึ้นอะไรลง และจะมีการกระทำอย่างไร ต้องบอกว่ามองสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอย่างไร และนำหลักคิดมาทาบกับข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างไร จึงสรุปว่าผลของการตัดสินใจ และการกระทำคืออะไร และคาดว่าผลที่ทำลงไปภายใต้หลักคิดที่พิจารณาแล้วจะเป็นอย่างไร" ดร.สมประวิณอธิบาย
บทเรียนการแก้ไขปัญหาหนี้จากต่างประเทศ
ท้ายที่สุด ดร.สมประวิณ ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยใช้นโยบายผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง สอดคล้องกับหลักการ "ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร" ที่ ดร.สมประวิณ กล่าวถึงในช่วงแรก หรือกล่าวโดยสรุปคือ การที่ธนาคารกลางผ่อนคลายนโยบายการเงินแต่ระมัดระวังไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่พึงประสงค์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์