‘เศรษฐกิจ’ ซึมลามธุรกิจใหญ่ทรุด 'ทีทีบี' ห่วง บิ๊กคอร์ป “กำไรลด”

"ทีทีบี" ชี้ไทยเผชิญหลายปัญหา จากนโยบายทรัมป์ สินค้าจีนทะลัก ลามกระทบความสามารถแข่งขันของธุรกิจใหญ่ ชี้เริ่มเห็นรายใหญ่อ่อนแอลง ขณะที่เอสเอ็มอีหนี้เสียพุ่ง
สำหรับประเทศไทยปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงเรื้อรัง คนไทยเผชิญภาวะ “แก่แต่ยังเป็นหนี้” รายได้ไม่เพิ่มแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท หรือ 89% ของจีดีพี ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีถูกดิสรัป เข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงมากขึ้น
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต กล่าวในงานประกาศกลยุทธ์ ปี 2568 ว่า หากพูดถึงสถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้ ประเทศไทยกำลังมีปัญหา
เริ่มตั้งแต่โลกที่ปั่นป่วนจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้ตัวชี้วัดคือ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ Geopolitical risks ขึ้นสูงสุดในรอบ 20ปี การขึ้นกำแพงภาษีต่างๆ ที่ทำให้สงครามการค้ากลับมาปะทุอีกครั้ง เหล่านี้กำลังส่งผลให้การค้าทั้งโลกเจอปัญหา
อีกทั้งประเทศไทย ที่ถือเป็นซัพพลายเชนของโลกก็ต้องโดนผลกระทบไปด้วย เพราะเราผลิตส่งออกไปจีนเพื่อส่งออก ซึ่งจะกดดันต่อการนำเข้า และส่งออกของไทยให้มีปัญหาตามมาแน่นอน
เอสเอ็มอี-รายใหญ่กระทบถ้วนหน้า
ถัดมาสินค้าจีนที่ทะลักเข้าในประเทศไทย ทำให้เอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัด และแข่งขันยากอยู่แล้วเติบโตยากขึ้น และวันนี้เริ่มเห็นว่าผลกระทบไม่เฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี แต่วันนี้ผลกระทบลามมาสู่ธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว จากการเข้ามาแข่งขันของจีน ส่งผลให้ภาคการผลิตเจอการแข่งขันมากขึ้น ที่วันนี้ธุรกิจขนาดใหญ่กำลังเจอกับการแข่งขันที่มากขึ้น จากสินค้าจีนที่มีต้นทุนที่ต่ำ
“หากย้อนกลับไปถึงบริษัทใหญ่ต่างๆ ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ มีให้เห็นเรื่อยๆ ที่เป็นบริษัทใหญ่ที่ไปต่อไม่ได้ ซึ่งชัดเจนมากขึ้น อดีตอาจบอกว่าบริษัทขนาดใหญ่อยู่ได้ มีปัญหาเฉพาะเอสเอ็มอี ตอนนี้เริ่มไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ลูกค้าแบงก์ก็เริ่มเห็นแล้วเห็นว่าธุรกิจรายใหญ่อ่อนแอลง" นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้อาการแรกของธุรกิจรายใหญ่ที่เห็น คือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำไรที่ลดลง ราคาหุ้นก็ร่วง ประเภทที่จ่ายหนี้ไม่ไหวยังไม่ได้เยอะ แต่ส่วนใหญ่ถูกดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้ง
ไทยแบกหนี้สูง “เอสเอ็มอี” 77% ปิดตัวใน 3 ปี
สำหรับประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ที่วันนี้กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เผชิญหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก แม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ระดับสูง และหากดูรายได้คนไทยพบว่าโตเฉลี่ยเพียง 2% แต่หนี้ครัวเรือนโตปีละ 6%
ขณะที่ค่าใช้จ่ายแซงรายได้ไปมาก รายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย แปลว่าต้องกู้มาใช้จ่าย ดังนั้นวันนี้ปัญหาไม่ใช่ปัญหาหนี้ครัวเรือนแต่เป็นปัญหาจากรายได้ครัวเรือน เพราะรายได้ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงเกิดหนี้ครัวเรือนตามมา
ขณะเดียวกัน 77%ของธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องปิดตัวไปใน 3 ปีแรกของการทำธุรกิจ ธุรกิจต้องกู้มาใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ทำให้วันนี้ เห็นหนี้เสีย และหนี้กำลังจะเสียของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% หากเทียบกับครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับ 11%
เช่นเดียวกันภาพตลาดหุ้นที่เห็นความน่าสนใจน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่ม Old economy เศรษฐกิจยุคเก่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคฯ หรืออุตสาหกรรมยุคใหม่ ดังนั้นไทยจึงแข่งขันกับชาวโลกอยู่ยากขึ้น
โจทย์ไม่ใช่การเติบโต แต่โจทย์คือ การอยู่รอด
ดังนั้นปัญหาของเศรษฐกิจไทยวันนี้ ถือว่าเกินกว่า เรื่องการเติบโตไปแล้ว จากโลกเจอการแข่งขันสูง ดังนั้นโจทย์วันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่การเร่งเติบโต แต่โจทย์คือ การอยู่รอด หากก้าวข้ามการอยู่รอดไม่ได้ การเติบโตก็คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการโฟกัสการเติบโตของธุรกิจทีทีบีเอง หรือธุรกิจต่างๆ ก็อาจลดโฟกัสลง แต่มาเน้นกับการหาทางในการ “อยู่รอด” มากขึ้นทั้งครัวเรือน ธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่
นายปิติ กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้เราช่วย” ที่เสมือนเป็นยาแรง เป็นคีโมที่แก้มะเร็ง แต่ลูกหนี้เข้าโครงการน้อย เช่น ลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่แม้ Hair cut หนี้ แต่ลูกหนี้เข้าโครงการน้อย เพราะปัญหาวันนี้อยู่ที่การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ซื้ออาหาร และดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องการจ่ายหนี้
ซึ่งหากดูลูกหนี้ที่เข้าโครงการกับทีทีบี ในกลุ่มรถยนต์ พบว่าความสนใจเข้าร่วมโครงการเพียงกว่า 10% ที่อยากเก็บรถไว้ใช้ ขณะที่อีก 80% เกือบ 90% ไม่เข้าโครงการ ไม่เจรจาหนี้
ส่วนกลุ่มลูกหนี้บ้าน เห็นการตอบรับเข้าโครงการที่ดี 60% แต่ที่น่าห่วงคือ “เอสเอ็มอี” ที่น่ากังวล และพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 อยากสู้ต่อ ไม่อยากให้ถูกยึดกิจการ แต่อีก 7 ใน 10 ปล่อยให้แบงก์ยึดสถานประกอบการ ยึดกิจการ เพราะธุรกิจขาดทุนทุกเดือน ดังนั้นโครงการคุณสู้เราช่วยที่มองว่าเป็นยาแรงแล้ว หากไม่สามารถช่วยกลุ่มเหล่านี้ได้ ก็แปลว่าโจทย์ของลูกหนี้อาการหนักมากกว่าการผ่อนหนี้ไปแล้ว
ไทยเจอศึกเศรษฐกิจทรุดยาว
ดังนั้น ศึกนี้ถือเป็นศึกยาวสำหรับเศรษฐกิจไทย และเริ่มเห็นผลกระทบลงมาที่ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายทั้งแบงก์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย เพราะเห็นว่าโลกก็ปั่นป่วนทำให้ไทยปั่นป่วนลงมาที่ธุรกิจ ดังนั้นทำอย่างไรที่แบงก์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยประคองทุกฝ่ายให้ฝ่าความยากลำบากช่วงนี้ต่อไปให้ได้
สำหรับการที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการหามาตรการกระตุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ กระตุ้นซื้อรถใหม่เพื่อใช้ในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมองว่า วันนี้คนไทยเจอโจทย์จำกัดมากขึ้น ภายใต้เงินที่จำกัด เงินในกระเป๋าลดลง ดังนั้นวันนี้ทุกคนอยากเก็บเงินอาจทำให้ความจำเป็นในการซื้อรถน้อยลง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งเห็นใจรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย
ทั้งนี้ ต้องกระตุ้นกลุ่มคนที่มีเงินในกระเป๋าให้ออกมาจับจ่ายมากขึ้น แต่ปัจจุบันคนที่มีเงินมีการชะลอการใช้จ่าย และมองว่าหากซื้อนานกว่านี้อาจได้ของที่ถูกลง
เช่นเดียวกับมาตรการ LTV ที่มองว่า แม้จะมีการผ่อนปรนเกณฑ์อาจไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากวันนี้คนมีปัญหารายได้ และมีหนี้ต่อรายได้สูง ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอในการกู้ซื้อบ้าน ดังนั้นแม้จะผ่อนคลายเกณฑ์ก็เชื่อว่าอาจไม่ได้ช่วยมากนัก
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้คนมีเงินในต่างประเทศเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยมากขึ้น เหล่านี้คือ ศึกที่ทั่วโลกเผชิญ และมี 60 ประเทศ ที่ทำสิ่งเดียวกัน คือ แย่งคนที่มีเงิน คนที่เป็นกลุ่มบนของเศรษฐกิจ
“วันนี้จะหวังเงินจากคนไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยคงเหนื่อย ดังนั้นเราต้องหาทางเอาคนจากต่างประเทศ ที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัย อัตราการเกิดน้อย ดังนั้นการจะหวังเงินจากคนอายุมากขึ้น ประชากรอยู่ในช่วงสังคมสูงวัย ประชากรหดตัว เหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายมาก”
จับตา 2 เม.ย.สหรัฐประกาศขึ้นภาษีไทย
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย จัดงาน สัมมนาใหญ่ประจำปี 2568 ในวันที่ 12 มี.ค.2568 โดยส่วนหนึ่งมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อปรับทิศทางอสังหาฯ 2025 วิกฤติหรือโอกาสฯ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความท้าทายใหม่ในภาวะเปลี่ยนผ่านว่า ในปี 2568 ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ นโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีการใช้มาตรการสงครามการค้า ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการภาษีแล้ว
ส่วนไทยคงเลี่ยงไม่ได้ และคาดว่าวันที่ 2 เม.ย.2568 The US Trade Representative's Office (USTR) จะประกาศรายชื่อประเทศที่เกินดุลการค้า และใช้มาตรการในการกีดกันการค้ากับสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่าย และจะประกาศรายชื่อพร้อมมาตรการที่สหรัฐจะใช้ในการตอบโต้ด้วย
ทั้งนี้การเจรจากับสหรัฐจำเป็นที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น ลดมาตรการกีดกันการค้า โดยมีหลายสินค้าที่อยู่ในข่ายที่ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐได้เพิ่ม เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู ข้าวโพด ถั่วเหลือง ไวน์ และเบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เจรจาสหรัฐได้
คาดเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่เกิน 3%
นางสาวกิริฎา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ทีดีอาร์ไอคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยจะขยายตัวประมาณ 2.5-3.0% ขณะที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับประมาณ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในระหว่างปีจะมีความผันผวนมาก
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมองว่าจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งหน้า 0.25%
ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในนโยบายนั้นอาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือให้มีการเข้าถึงสินเชื่อ และจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย
ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยน่าห่วงขึ้น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย หลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยถือว่าน่าเป็นห่วงจากปัจจัยสงครามการค้าที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเมื่อการค้าโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบแค่ภาคส่งออก แต่กระทบไปยังซัพพลายเชนต่อเนื่อง เรื่องการลงทุนของธุรกิจ และกำลังซื้อของคน จึงยังน่าเป็นห่วง
“ประเทศไทยเหมือนคนที่เข้าสู่สนามรบโดยมีอาวุธจำกัดมากไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังที่หนี้สาธารณะใกล้จะชนเพดาน ส่วนดอกเบี้ยนโยบายก็มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือแค่ 2% ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลงไปมากกว่านี้ได้มากนัก”
ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2568 ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องเร่งระบายสต๊อกจากที่มีการชะลอตัวในส่วนของยอดขายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการลดสต๊อกของผู้ประกอบการทำให้เพิ่มการถือเงินสดใช้บริหารงาน และบริหารโครงการช่วงครึ่งหลังปี 2568 ที่มีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ดีขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 14 บริษัทที่มีการติดตามพบว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2568 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท จาก 3.4 แสนล้านบาท ในปีที่แล้ว ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจากปี 2567 ยังมียอดคงค้างสูงกว่า 8.5 แสนล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์