แบงก์ชาติ รับพิจารณาผ่อน ‘แอลทีวี‘ ย้ำจุดยืนต้อง เกิดประโยชน์-ช่วยได้จริง

“แบงก์ชาติ” รับเรียกผู้ประกอบการ “อสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้าง” หารือสถานการณ์ยอดขายอสังหาฯ ชี้ “เอกชน” ขอผ่อนคลายเกณฑ์ “แอลทีวี” เพื่อกระตุ้นยอดซื้อ ย้ำแอลทีวีอาจไม่ใช่รากเหง้าของปัญหาทำ “ยอดขาย” ดิ่ง
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่ามมีการเรียกหารือ ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการหารือเรื่องปัญหาต่างๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการขอคือ ขอผ่อนคลายมาตรการ LTV สำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2-3
โดย ธปท. ยอมรับจากการดูข้อมูลต่างๆ และการหารือกับผู้ประกอบการ ธปท. ก็เห็นภาพของการฟื้นตัวนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มา ซึ่ง ธปท. ก็มีการมอนิเตอร์ปัจจัยเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่ธปท. ต้องพิจารณาคือ การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้จริงหรือไม่ ซึ่งธปท. ก็ไม่ได้ปฏิเสธ และมองว่า LTV มีส่วนช่วยได้ กลุ่มที่รายได้สูงโดยเฉพาะสัญญาที่ 2-3 และมีศักยภาพในการกู้ได้ แต่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง
ดังนั้น เหล่านี้ก็ต้องพิจารณาร่วมกันกับข้อมูลต่างๆ ทั้งสัญญาณการเก็งกำไรของภาคอสังหาฯ ต่างๆ ควบคู่กับอุปสงค์อุปทานคงเหลือของภาคอสังหาฯ
ดังนั้น ธปท. เตรียมนำข้อมูลที่หารือร่วมกับผู้ประกอบการต่างๆ และข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อไปนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโบบายสถาบันการเงิน (กนส.) ต่อไป ส่วนจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 หรือครึ่งปีแรกนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้
“ปัญหาตอนนี้ไม่ได้ติดที่ใคร แต่มาจากการดูข้อมูล เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลแตกต่างกัน ดังนั้น ต้องมาดู ทั้งดีมานด์ และสินเชื่อว่าที่แย่มาจากอะไร สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ และการผ่อน LTV จะเข้ามาช่วยเหลือตรงนั้นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาธปท. ก็มีการติดตามข้อมูลตลอดไม่ใช่ว่าไม่ดูเลย และจุดยืนของธปท.คือ ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม และต้องทำแล้วมีผล และเกิดประโยชน์ช่วยได้จริง”
นอกจากนี้ สิ่งที่ธปท.ต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยคือ ภาคอสังหาฯ ที่ฟื้นตัวช้า เจอหลายปัจจัยเข้ามากระทบ มีปัจจัยอื่นๆหรือกุญแจอื่นๆหรือไม่ในการเข้ามาแก้ปัญหาด้านนี้ได้ตรงจุดมากกว่า
ทั้งนี้ ยอมรับอสังหาฯ ที่ฟื้นตัวช้า มาจากความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจด้วย และส่วนหนึ่งมาจาก คุณภาพของผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จากรายได้ผู้กู้เครดิตริสที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ที่ผ่านมา ยอดขายอสังหาฯ ไม่ได้ขยายตัวมากนัก เพราะผู้กู้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่ต้น
ดังนั้น ธปท.ต้องกลับมาพิจารณาส่วนนี้ เพราะไม่ใช่ว่า LTV จะช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ ดังนั้นไม่เฉพาะผู้ประกอบการที่ธปท.มีการหารือ แต่รวมไปถึง สถาบันการเงินด้วยว่าหากผ่อนคลายเกณฑ์ LTVต่างๆ ได้จะมีส่วนช่วยให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้หรือไม่ ดังนั้น เหล่านี้ต้องเป็นการคุยกันต่อเนื่อง
“เดือนก่อนเรายังบอกสถานการณ์โอเค แต่ไม่ใช่บอกว่าโอเคตลอด ดังนั้น ธปท. ก็รับฟัง ซึ่งปัญหาขณะนี้ อยู่ที่ความเสี่ยงระบบเศรษฐกิจ และจากฟื้นตัวของรายได้ผู้กู้เครดิตผู้กู้ที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ที่ผ่านยอดขายไม่ได้โต ดังนั้น หากบอกเพราะ LTV ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาหรือไม่ใช่ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ ธปท. ก็ยอมรับว่าหากผ่อนคลาย LTV แล้ว สำหรับคนบางส่วนที่ต้องการมีบ้านเพิ่ม สำหรับคนมีรายได้เยอะ ไม่ใช่คนเปราะบางก็อาจจะมีประโยชน”
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน ณ 16 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 8.2 แสนราย หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีอยู่ที่ 9.9 แสนบัญชี ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.2568 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 6.3 แสนราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพียง 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ลงทะเบียน ถือว่าค่อนข้างน้อย และยังไม่ใช่จุดที่ธปท.พอใจ
โดยปัจจัยที่ทำให้คนเข้าโครงการน้อย หรือไม่ผ่านเงื่อนไข เนื่องจากลงทะเบียนผิดเจ้าหนี้ ผู้ลงทะเบียนยังเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่ได้ค้างชำระหนี้ และมียอดหนี้เกินกำหนดที่ธปท.ระบุในแต่ละสินเชื่อ รวมถึงลูกหนี้มีการปิดบัญชีไปแล้ว
ส่วนการขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) มีผู้ร่วมโครงการ 2 ราย ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วม แต่จะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของธนาคารออมสิน เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้นอนแบงก์ จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้วย
“ถามว่าคนที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ส่วนนี้ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการหรือไม่ ส่วนนี้เราก็มีการมอนิเตอร์อยู่ แต่กลุ่มนี้ก็มีมาตราการอื่นๆ ที่ช่วยเหลือกลุ่มนี้อยู่แล้ว และถัดมาที่เป็นอุปสรรคทำให้คนเข้าโครงการไม่ได้ คือการที่กำหนดไม่ให้กู้ภายใน12 เดือน ก็ยอมรับว่า ว่าเป็นอุปสรรคจริงๆ แต่เป้าหมายของธปท.คือ มองว่าโครงการนี้ มีส่วนช่วยลูกหนี้ในการลดภาระหนี้ลด เช่น หากจ่าย 1 หมื่นบาท ปีแรกลูกหนี้จะจ่ายแค่เดือนละ 5 พันบาท ลดภาระไปได้เยอะ และการห้ามกู้คือสินเชื่ออุปโภคบริโภค แต่สินเชื่อที่นำไปใช้สำหรับธุรกิจส่วนนี้ธปท.ไม่ได้ห้าม”