‘อาทิตย์‘ เร่งเครื่องธุรกิจ ตั้งเป้า ’เจนสอง’ กำไรทุกบริษัท ดันเข้าตลาดหุ้น

‘อาทิตย์‘ เร่งเครื่องธุรกิจ ตั้งเป้า ’เจนสอง’ กำไรทุกบริษัท ดันเข้าตลาดหุ้น

‘อาทิตย์’ เอสซีบีเอกซ์’เร่งเครื่องธุรกิจโต ชูเป้าหมาย ‘เจนสอง’ กำไรทุกบริษัท ก่อนดันเข้าตลาดหุ้น เดินหน้าลุย “เวอร์ชวลแบงก์” หากคว้าไลเซนส์กลางปี 68 หวังช่วยกลุ่มรายได้น้อย

‘อาทิตย์‘ เร่งเครื่องธุรกิจ ตั้งเป้า ’เจนสอง’ กำไรทุกบริษัท ดันเข้าตลาดหุ้น เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานสำหรับ “เอสซีบี เอกซ์” ปี 2567 ไป โดยธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่  43,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 4 อยู่ที่ 11,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน 

โดยหลายธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจใน Gen2 อย่าง “คาร์ดเอกซ์” (CardX) ที่วันนี้เริ่มกลับมาอยู่ในเส้นทางของการพลิกกลับมากำไรได้ 

โดยในปี 2568 “เอสซีบีเอกซ์” ยังคงมุ่งขับเคลื่อนการเติบโต เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ และมูลค่าในระยะยาว บนความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการ บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น “กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าชื่นชมที่สุดในภูมิภาค”  

อาทิตย์ นันทวิทยา”​ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ได้ฉายภาพธุรกิจในปัจจุบัน และการขับเคลื่อนธุรกิจในระยะข้างหน้าว่า ในวันนี้ธุรกิจภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ถือว่ามีพัฒนาการอย่างมาก จากจุดที่เคยเป็น “ธนาคาร” ที่ในวันนี้หลายอย่างมีการเริ่มและพัฒนาไปมากพอสมควร

ซึ่งหากพูดถึงจุดเริ่มต้น ที่เริ่มจาก “กำไร” เกือบ 40,000 ล้านบาท และเราก็เชื่อว่า เมื่อไปถึงจุดที่ทุกบริษัททำได้ดี ทำเต็มที่แล้ว ภาพรวมต่างๆ ก็ต้องดีขึ้น ดังนั้น วันนี้มองว่าเราดีกว่าจุดตั้งต้นเยอะ

โดยหากดูผลประกอบการโดยรวมภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” พบว่า วันนี้ธุรกิจในกลุ่ม Gen2 หากดูเป็นรายเดือน พบว่าทุกตัวเริ่มมีกำไรแล้ว ตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะ “คาร์ดเอกซ์” ที่เริ่มมีกำไรแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน ที่ผลการดำเนินงานกลับมาบวกได้ทุกเดือนแล้ว แต่หากดูทั้งปี 2567 ภาพรวมธุรกิจก็ยังติดลบอยู่

หากดูเป้าหมายถัดไปของธุรกิจ เมื่อหลายบริษัทเริ่มมีผลประกอบการดีขึ้น และผลงานบวกทุกบริษัท ก็มีโอกาสที่จะนำบริษัทเหล่านี้ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไอพีโอได้ เมื่อธุรกิจแข็งแรง มีกำไร

ดังนั้น หลังจากนี้คือทำอย่างไร ที่ทุกบริษัทจะสามารถเปลี่ยนจากบริษัท ไปสู่ความสามารถในการ “ระดมทุน” หรือ Raise Fund ได้เอง ซึ่งแผนเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่จะเห็นได้ในอนาคต และเมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจสามารถ Raise Fund ได้แล้ว ก็ยังมองว่าในมุมของ “เอสซีบี เอกซ์” เองก็ยังคงถือธุรกิจเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีแผนขายธุรกิจออกไปในอนาคต

ดังนั้น เป้าหมายของ “เอสซีบี เอกซ์” คือพยายามผลักดันให้ทุกบริษัท ภายใต้เอสซีบีเอกซ์ เป็น “Cash cow” ตัวใหม่ๆ ที่เมื่อไปบวกกับ Cash cow ตัวเก่าแล้ว จะยิ่งมีแต่สร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้กับธุรกิจภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ได้ในอนาคต และเมื่อธุรกิจยิ่งเติบโตขึ้น โอกาสที่ผู้ถือหุ้นจะได้เงินปันผลมากกว่าวันนี้ที่จ่ายอยู่ที่ 80% ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก

“เป้าหมายของเราคือ พยายามผลักดันให้ทุกตัวเป็น Cash cow ตัวใหม่ๆ วันนี้เราเริ่มต้นจาก Cash cow ตัวเดียว แต่เมื่อเราสามารถสร้างตัวใหม่ๆขึ้นมาได้ บนวันนี้ที่จะมีบางสิ่งที่สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง อดทนไป ก็จะมีบางธุรกิจที่ล้มไป แต่คนที่เหลืออยู่ในที่สุดจะกลายเป็น Cash Cow ตัวใหม่ ที่เมื่อเอามารวมกับตัวหลักที่สร้างรายได้หลักให้เรา ก็จะยิ่งสร้างการเติบโตใหม่ๆให้กับธุรกิจที่เพิ่มขึ้นไปอีก”

อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวม ยอมรับวันนี้การที่ทุกแบงก์มุ่งไปแข่งขันธุรกิจเวลท์ หรือธุรกิจมั่งคั่งมากขึ้น หากดูภาพรวมวันนี้คนกว่า 60% ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ยังมีกลุ่มที่ยังสามารถเติบโตได้ นั่นคือธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มเวลท์ คนรวย ดังนั้น ไม่แปลกที่ทุกแบงก์จะต้องมุ่งไปหากลุ่มเหล่านี้ ที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เพราะหากมุ่งไปหากลุ่มที่มีรายได้น้อย ก็คงไม่ใช่ เพราะวันนี้กลุ่มเหล่านี้ มีความสามารถในการกู้เงินลดลงอย่างมาก

การมุ่งไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจเวลท์ และธุรกิจรายใหญ่ ก็ถือเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ผลประกอบการของเอสซีบีเอกซ์ที่ออกมาปี 2567 ยังสามารถมีกำไรที่ยังเติบโตได้ แม้ภาพรวมสินเชื่อจะไม่ได้เติบโตก็ตาม

ทั้งนี้ แนวคิดของเอสซีบี เอกซ์ ที่ตั้งใจอย่างมากคือ หลังจากนี้เมื่อได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศผู้ที่ได้รับไลเซนส์ในกลางปี 2568 ซึ่งหากเอสซีบี เอกซ์ได้ บริษัทอยากส่งผ่านต้นทุนที่ต่ำจากการให้บริการผ่าน Virtual Bank ไปสู่คนรายได้น้อย ไปสู่คนกลุ่มล่างมากขึ้น เพราะมองว่าภายใต้ปัจจุบัน ที่ยังคงเห็นความเปราะบางอยู่มาก หากไม่มีการทำอะไร ความเปราะบางเหล่านี้ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ส่วนกรณีที่ภาครัฐสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน “ซื้อหุ้นคืน” ได้ กรณีที่ภาครัฐมีการสนับสนุนในการให้บริษัทจดทะเบียน มีการซื้อหุ้นของบริษัทตัวเอง หรือซื้อหุ้นคืนได้มากขึ้น ซึ่งในมุมของเอสซีบีเอกซ์ มองว่า การซื้อหุ้นคืน หรือการจ่ายอัตราเงินปันผล หรือ Dividend ถือเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนละข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เอสซีบีเอกซ์ทำมาต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว ดังนั้นมองว่า บริษัทไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อหุ้นคืน ยกเว้นบริษัทมองว่าอยากจะทำทั้งสองเด้ง ทั้งในส่วนของการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายปัจจุบัน

ดังนั้น หากดูการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน เอสซีบีเอกซ์ ก็มีการจ่ายปันผลสูงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคิดเป็น 80% ของกำไรสุทธิ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้กระแสเงินสดเพิ่มเติม ไปซื้อหุ้นตัวเองออกมาอีก ดังนั้นมองว่าการจัดสรรบางส่วนไปจ่ายเป็นเงินปันผลสูงถึง 80% ของกำไรสุทธิในปัจจุบันเป็นจุดที่สมดุลแล้ว