นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ‘ไฟแนนเชียลฮับ‘ เกิดไทยต้องปฎิรูปทั้งระบบ

นักเศรษฐศาสตร์” หนุน “ไฟแนนเชียลฮับ” “เคเคพี” คาดหนุนเศรษฐกิจโต แต่ต้องแก้กฎหมาย ทำให้แข่งขันเสรี แก้ระบบชำระเงินให้หลากหลาย
เหมือนต่างประเทศ “กรุงไทย” ชี้หนุนขับเคลื่อนประเทศ หวังสิทธิประโยชน์สู้สิงคโปร์-ฮ่องกง “กสิกรไทย” มองจะเกิดประโยชน์แท้จริงต้องเปิดเสรี
ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่อดันให้ไทยเป็น
“ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” (Financial Hub) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และต้องการให้ประเทศไทยก้าวเป็น ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค
สำหรับเป้าประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งภูมิภาคแล้ว ยังหวังว่าไฟแนนเชียลฮับ จะเป็นความหวังใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางในการดึงดูดทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศ ดึงดูดบริษัทใหม่เข้ามาลงทุน ที่จะเป็นผลดีต่อประเทศให้เกิดการจ้างงาน และสุดท้ายหวังว่าเงินจะหมุนเข้าสู่เศรษฐกิจไทยมากขึ้น
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยมุมมองเศรษฐกิจโลกบนเวที กล่าวว่า การผลักดัน Financial Hub ถือเป็นความพยายามที่ดี และจะเป็นจุดสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะหากดู “เครื่องจักร”
ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากขึ้นพบว่าไม่มี ดังนั้น การทำให้เป็นศูนย์กลางการเงินจะทำให้ประเทศมีโอกาสเติบโตขึ้นในระยะข้างหน้า
แต่การทำสิ่งเหล่านี้ได้มองว่า มีอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่ประเทศ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินวันนี้ มีการทำกฎหมายได้ดี มีระบบศาลที่ยุติธรรม
ดังนั้น หากไทยจะเป็น Financial Hub มองว่าการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคจะเป็น “ความท้าทายใหญ่” ในประเทศไทย เพราะวันนี้กฎหมายต่างๆ ของเรายังไม่ได้มีการแก้ไขให้คล่องตัวในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น รวมถึงกฎหมายที่ยังมีความล้าสมัย
ถัดมาคือ การกำกับดูแล ของผู้กำกับ ที่วันนี้ ยังไม่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ ยังไม่ได้เปิดกว้างในการทำธุรกิจการเงินได้เสรี โดยห้ามยุ่งกับผู้เล่นรายเดิม แต่ผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา จะเข้ามาให้บริการกับต่างชาติได้เท่านั้น ซึ่งหากจะแข่งขันต้องผ่านตัวกลางที่มีใบอนุญาตในไทย ดังนั้น ข้อนี้ยังมีอุปสรรคอย่างมาก เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เอื้อในการแข่งขัน
“เราไม่มีทางเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ได้ หากเรกูเรเตอร์ยังปกป้องผู้เล่นอยู่ เหล่านี้ทำให้การเข้ามาไม่ได้ดึงดูด ดังนั้น หากเราจะเป็น Financial Hub เราต้องเปิดให้ผู้เล่นในไทย เปิดรับการแข่งขันกับต่างประเทศด้วย ไม่งั้นจะถูกตั้งคำถามว่า หากเข้ามาแล้วจะเข้ามาทำไม เพราะไม่สามารถแข่งขัน หรือสามารถขายหรือเจาะลูกค้าไทยได้”
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า หากมีการเปิดเสรี และทำให้เกิดการแข่งขันในภาคการเงินมากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาอีกด้าน แม้จะทำให้แข่งขันมากขึ้น แต่ผลตอบแทน หรือสเปรดที่ได้ของภาคการเงินก็อาจต่ำลง จากการแข่งขันมากขึ้น และบางรายหากแข่งขันไม่ได้ ธุรกิจอาจประสบปัญหาล้มหายตายจากได้
ดังนั้น มองว่าการจะเป็น Financial Hub ได้ต้องมีการปฏิรูปทั้งระบบ ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา ระบบศาล และเรกูเรเตอร์ การกำกับดูแล ต้องทำให้ผู้เล่นเกิดการแข่งขันมากขึ้น
มองต้องเปิดเสรีการชำระเงิน
เช่นเดียวกัน การชำระเงิน ที่หากจะเป็น Financial Hub ต้องเปิดให้มีการชำระเงิน ได้หลากหลาย เช่นเดียวกัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่ไม่มีข้อห้ามในการทำธุรกรรม ไม่ว่าสกุลเงินใด หรือดิจิทัลแอสเซท คริปโท สามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้
“หากเราจะเป็น Financial Hub ต้องแก้หลายด้าน วันนี้หลายด้านเรายังล้าสมัย และยังไม่ตอบโจทย์ต่างชาติ มากนัก และทำให้หลายด้านเรามีความยุติธรรม เชี่ยวชาญมากขึ้น ทั้งระบบศาล ระบบกฎหมาย ระบบภาษี หรือสินทรัพย์บางตัว ที่ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นเราต้องทำอีกหลายเรื่อง”
ต้องใช้สิทธิประโยชน์สูงดึงดูดต่างชาติ
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Cheif Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า Krungthai COMPASS กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิด Financial Hub ในประเทศไทย โดยรวมถือว่ามีบวกต่อประเทศ ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านการเงิน
โดยเฉพาะด้านการเงิน ที่ถือเป็นด้านหนึ่งที่สำคัญ ทั้งในโลกปัจจุบันและในอนาคต ที่เทคโนโลยี และไฟแนนเชียลที่ต้องมาขับเคลื่อนด้วยกัน ดังนั้นการที่ไทยจะทำเรื่องนี้ มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศสามารถได้ประโยชน์จากการตั้งศูนย์กลางการเงินครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ตาม การเปิด Financial Hub ได้ เหมือนที่หลายประเทศทำ เชื่อว่าอาจต้องสร้างแซนบล็อกขึ้นมา เพื่อดูว่าโมเดลใดมีความเหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด เพราะไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องการเป็น Financial Hub และวันนี้ก็มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว คือสิงคโปร์ และฮ่องกง ดังนั้น การจะทำให้โมเดลนี้สำเร็จได้ ต้องมีการศึกษาโมเดลต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
ทั้งนี้ มองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จุดแรกที่ต้องแก้คือ การเอื้อให้การเข้ามาตั้งธุรกิจ หรือแรงงานเข้ามาทำงานทำธุรกิจทำได้ง่ายมากขึ้น ที่ยังมีกฎหมายที่ต้องแก้อีกมาก เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
ขณะเดียวกัน มองว่าข้อเสียคือ หากประเทศไทยจะไปแข่งเป็น Financial Hub กับสิงคโปร์ ฮ่องกง อาจต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก เพื่อดึงดูดเงินใหม่ๆเข้ามาในประเทศ เพราะที่เรากำลังแข่ง เป็นประเทศที่แข็งแกร่งค่อนข้างมาก แต่หากดูทรัพยากรของไทยในระยะข้างหน้า ที่พื้นที่การคลังมีข้อจำกัด การดึงดูดต่างชาติเข้ามาด้วยการดึงดูดด้วยสิทธิประโยชน์ที่มาก อาจมีข้อจำกัด และต้องพิจารณาให้ดีว่า “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่
แนะควรเปิดแข่งขันเสรี
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มองว่าเป็นสิ่งที่ดีหากทำให้สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะการเงินขึ้นมา ที่จะทำให้เงินไหลเวียน และเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หากมีกฎหมายพิเศษที่ทำให้การเงินต่างๆเข้ามาได้ง่ายขึ้น ออกได้ง่ายขึ้นมากขึ้น เหมือนเป็นทางผ่านในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ
ซึ่งมองว่าช่วงแรก แม้จะมีข้อห้ามแข่งขันกับคนไทย หรือผู้แข่งขันรายเดิม ซึ่งอาจทำให้การทำธุรกิจมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่มองว่า ในระยะถัดไป มองว่าหากจะทำให้เรื่องดังกล่าวเปิดกว้าง และเสรีมากขึ้น ต้องเปิดให้มีการแข่งขันได้เสรีมากขึ้น เปิดกว้าง ให้ธุรกิจแข่งขันกันถึงสามารถทำให้เกิด Financial Hub ได้อย่างแท้จริง
“เราเชื่อว่า เป็นผลดี เพราะหากเปิดเสรีได้ อย่างน้อยก็มีเงินเข้ามาในประเทศ ประเทศไทยจะเก็บภาษีได้มากขึ้น คนมีความสามารถก็ไม่ต้องย้ายออกไป แรงงานก็มีงานทำที่ทำให้คนไทยมีความสามารถมากขึ้น”