นักเศรษฐศาสตร์หนุน ‘ปฏิรูปภาษี‘ เพิ่มรายได้ - ขยายฐานภาษี ควบคู่ลดขนาดรัฐ

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้การปฏิรูปภาษีเป็นสิ่งจำเป็น “เคเคพี” ชี้ต้องทำคู่กับการปฏิรูปภาครัฐ ลดขนาดรัฐ ลดการรั่วไหล “ซีไอเอ็มบีไทย” มองลดภาษีนิติบุคคลจำเป็น หวังดึงการลงทุนใหม่ “กสิกรไทย” มองปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า มองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ต้องปฏิรูปภาษี แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ การปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง เพราะประเทศไทยมีปัญหามานาน จากระดับรายได้ภาษีต่อจีดีพี ปรับลดลงต่อเนื่อง อดีตเคยสูงอยู่ที่ 27% มาเหลือเพียง 15%
รัฐต้องแก้ 3 ด้าน “ลดขนาดรัฐ-เพิ่มรายได้-ขยายฐานภาษี”
ดังนั้น มองว่ามีเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องคำนึงถึง ด้านแรก ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย แปลว่าคนวัยทำงานที่มีกำลังจ่ายภาษีมีน้อยลง ดังนั้น เหล่านี้จะเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คือ รายได้ด้านภาษีจะลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นมองว่ามี 3 เรื่องที่ต้องแก้
เรื่องแรก ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ขนาดของรัฐให้เล็กลง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการรั่วไหล และลดสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น กฎระเบียบต่างๆ ที่มีมากเกินไป ดังนั้นต้องลดเพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงในระยะ
เรื่องที่ 2 ต้องแก้เรื่องรายได้ เพราะหากดูรายได้ในระยะข้างหน้ามีทิศทางลดลงต่อเนื่อง การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง สะท้อนว่า วันนี้บนโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบันมีคนอีกมากที่มีการหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้น ระบบการจัดเก็บภาษีทำได้ไม่เต็มที่ การจัดเก็บภาษีรั่วไหล
เช่น ธุรกิจขาดทุน แต่บนบัญชีสามารถขอสินเชื่อจากแบงก์ได้ค่อนข้างมาก ไม่สะท้อนกับผลประกอบที่เปิดเผยในการยื่นภาษีต่างๆ ดังนั้นมองว่า การขยายฐานภาษีเป็นเรื่องจำเป็นมาก โดยการทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ ลดการรั่วไหลของระบบ
เรื่องที่ 3 การปรับอัตราภาษี การปฏิรูปฐานภาษี ที่ต้องเพิ่มขึ้นในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเวลท์ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อขยายฐานภาษีกับคนรวย คนมีรายได้สูง
“หากพูดถึงการปฏิรูปทางภาษี วันนี้ที่พูดถึงกันคือ ภาษีนิติบุคคล เมื่อก่อนเราอยู่สูงถึง 30% บริษัทต่างๆ ก็ย้ายไปลงทุนต่างประเทศ แต่วันนี้ลงมาแล้วเหลือ 20% โดยเฉพาะภาษี Global minimum tax ที่วันนี้ มีการเก็บภาษีจากบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 15% ดังนั้น มองว่าไม่มีความจำเป็นในการปรับลดลง แต่ให้เลือกทำในบางประเทศ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทย ที่ระดับภาษีต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ ที่ปัจจุบันอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 17% เพราะการลดภาษีทั้งระบบ ไปที่ 15% ทำให้เราอาจเสียรายได้ภาษีถึงปีละ 2 แสนล้านบาท”
เร่งขยายฐาน “ภาษี” ดึงคนเข้าสู่ระบบ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในภาพรวมเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษี Global Minimum Tax (หรือภาษีนิติบุคคล) เพื่อดึงดูดการลงทุน ไม่เฉพาะนักลงทุนไทย แต่ยังหมายถึงการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในไทยมากขึ้น
เพราะวันนี้จากเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐมีการเก็บภาษีนิติบุคคล ลดลงเหลือเพียง 15% แต่เหล่านี้ไม่เฉพาะการลดภาษี แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การขยายฐานภาษีด้วย โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น
เช่นเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ปัจจุบันมีคนเสียภาษีเพียง 4 ล้านคน โดยที่จ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ กลุ่มบน 10% ของประเทศเท่านั้น แต่ส่วนอื่นๆ มีการจ่ายภาษีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ควรทำให้ระบบภาษีเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น สำหรับเรื่องภาษีกับคนที่มีรายได้ โดยควรจะมีแรงจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เช่น การหารัฐสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น
ต้องปฏิรูปภาษีทั้งระบบเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในกลุ่มรายได้สูง เช่น จากภาษีที่ดิน ภาษีเวลท์ ภาษีความมั่งคั่ง ที่ควรมีการจัดเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากอัตรากำไร (Capital Gain) (ในช่วงที่ตลาดหุ้นดี)
ทั้งนี้ เห็นด้วยหากมีการลดภาษีนิติบุคคล ลงเหลือ 15% จาก 20% เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้มากขึ้น โดยมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการปรับลดภาษี และกระตุ้นให้เกิดบริษัทใหม่ๆ มากขึ้น ที่ต้องการลงทุน ต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเข้ามาลงทุนในประเทศ
เช่นเดียวกันการลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 15% จากปัจจุบันที่ 35% เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีการทบทวนการเก็บภาษีบางด้านด้วย เช่น ภาษีจากเงินออม ที่ไม่ควรเก็บ เพราะลดแรงจูงใจในการออมเงิน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยมีปัญหาเงินไม่ใช้ในช่วงเกษียณ ดังนั้น ควรกระตุ้นให้คนอยากออมเงินมากขึ้น ผ่านการพิจารณาการลดหย่อนภาษีต่างๆ
“สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันกับการขึ้นภาษีคือ การจูงใจให้คนอยากเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ให้คนรู้สึกว่า จ่ายภาษีไปแล้วได้อะไร เช่น ในต่างประเทศที่ยอมจ่ายภาษี เพราะได้สวัสดิการเพิ่ม ได้เงินบำนาญเยอะขึ้น สิทธิในการักษาต่างๆ มากขึ้น แต่ประเทศไทยไม่ได้สะท้อนถึงส่วนนี้ ทำให้คนดีมาโดยตลอดไม่รู้สึกว่าได้อะไร แต่หากรัฐบาลทำตรงนี้ให้ดี คนก็ยอมจ่ายภาษีมากขึ้น หากเขารู้สึกว่ารัฐสวัสดิการเขาดีขึ้น”
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำภายใต้การจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นคือ การเปิดเผยข้อมูลรายได้ของภาครัฐ ข้อมูลรายได้จากภาษี ว่าเมื่อทุกคนจ่ายภาษีไปแล้ว ภาษีทั้งหมดถูกนำไปใช้อย่างไร ในโครงการใดบ้าง เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้
เหล่านี้จะช่วยเพิ่มโปร่งใสถึงที่มาของเงินมากขึ้น นอกจากนี้มองว่า การเก็บภาษีทำได้กับสินค้าหลายประเภท เช่น ภาษีน้ำมัน เพื่อลดการขับรถ เช่น การขับรถเข้าเมืองเพื่อลดแออัด หรือเก็บภาษีรถที่ทำให้เกิดมลพิษ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์