ภาษีต้องรู้! เมื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ภาษีต้องรู้! เมื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นรับดูแลหรือขายอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ หากมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่จะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นๆ เข้าข่ายต้องเสียภาษีในลักษณะใด เช็คได้ที่นี่

เมื่อวัฏจักรของชีวิตมนุษย์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ทว่าปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เนื่องจากคนไทยหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันอย่างจริงจัง จึงทำให้ช่วงอายุของคนเรายืนยาว เกิดเป็นกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และผลพวงของการมีผู้สูงอายุจำนวนมากนี้ จึงทำให้เกิดช่องทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งทางตรงและทางอ้อม 

​ที่สำคัญธุรกิจในกลุ่มดูแลให้บริการผู้สูงอายุยังมีไม่มากนัก จึงทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าถึงกลุ่มนี้ได้ก่อน สามารถสร้างรายได้และกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีจากรายได้ที่ได้รับนั่นเอง ซึ่งธุรกิจในกลุ่มดูแลให้บริการผู้สูงอายุจะมีแบบไหน และต้องเสียภาษีอะไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับดูแลผู้สูงอายุ

ธุรกิจรับดูแลผู้สูงอายุ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้ดีอาชีพหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงวัยอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าความกระฉับกระเฉง คล่องตัวหรือแม้แต่โรคภัยที่เข้ามาตามการเสื่อมถอยของวัย คงไม่ดีเท่ากับสมัยตอนเป็นหนุ่มสาว อีกทั้งผู้สูงอายุหลายรายต้องอยู่เพียงลำพัง เนื่องจากลูกหลานทำงานนอกบ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดอันตรายขึ้นได้ง่าย 

ดังนั้น การมีผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้เข้ามาดูแลผู้สูงวัยแทนคนในครอบครัว ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจดังกล่าวจะมีทั้งรับดูแลผู้สูงอายุแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ชำนาญการเข้าไปดูแล อย่างเช่นเข้าไปจัดเตรียมยารับประทานประจำวัน จัดเตรียมอาหาร และคอยดูแลด้านต่างๆ ตามตกลง 

​ทั้งนี้ เมื่อการบริการเริ่มต้น ระหว่างดูแล และสิ้นสุดท้าย ค่าตอบแทนที่ได้รับผู้ประกอบการจะต้องนำรายได้เหล่านี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยสามารถรวบรวมภาษีที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ภาษีเงินได้

​- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีที่ดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดา เมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า (แบบขั้นบันได) สูงสุด35% ซึ่งหากทำจริงจังมีทีมงานและค่าใช้จ่ายสูง ให้จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) แต่ถ้าทำคนเดียวใช้เพียงแรงงานเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ ให้จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2))  

​- ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคล ซึ่งกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการรับดูแลผู้สูงอายุ นิติบุคคลต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยได้ยกเว้นภาษีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000บาท และในส่วนของกำไรที่เกินจะเสียภาษีในอัตรา 15% - 20% นั่นเอง  

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ผู้ประกอบการที่รับดูแลผู้สูงอายุ เมื่อมีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี นับจากรายได้ของกิจการทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และส่ง VAT 7% ของรายรับ พร้อมยื่นแบบ ภ.พ.30 ให้กรมสรรพากรทุกเดือนแม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายรับก็ตาม 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการรับดูแลผู้สูงอายุ ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลเท่านั้น โดยต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อมีการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการตามประเภทรายจ่ายที่ไปใช้บริการ ตั้งแต่ 1-5% 

ประกันสังคม

​เมื่อใดก็ตามที่กิจการมีพนักงานประจำ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่ประกันสังคม พร้อมกับจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 5% ของเงินเดือนพนักงาน สูงสุดที่เงินเดือน15,000 บาท 

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารเพื่อผู้สูงอายุ

นอกจากอาชีพบริการดูแลผู้สูงอายุ จะถือเป็นอาชีพทางตรงสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังมีกิจการที่ทำธุรกิจทางอ้อมในสายนี้ อย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ และรายได้จากธุรกิจนี้จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วยเช่นกัน ดังภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

ภาษีเงินได้

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเหมือนกับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ คือหากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้าสูงสุดที่ 35% ซึ่งจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8))  

- ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกิจการขายอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล หากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี และผู้ประกอบการที่มีกำไรสุทธิเกิน 300,001 บาท จะเสียภาษีสูงสุด 20%

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

เจ้าของกิจการที่ขายอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ หากมีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเรีบกเก็บ VAT จากลูกค้าในอัตรา 7%

ภาษีป้ายและภาษีศุลกากร

- ภาษีป้าย ในกรณีธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ได้มีการติดป้ายเพื่อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์อาหารสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ ก็ตาม จะต้องเสียภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนดโดยท้องถิ่น

- ภาษีศุลกากร ในกรณีที่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ได้มีการนำเข้าอาหารหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศอาจต้องเสียภาษีศุลกากร โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าและนโยบายการค้า 

สรุป...ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้อง

​ดังนั้น ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นรับดูแลหรือขายอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ หากมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นๆ เข้าข่ายต้องเสียภาษีในลักษณะใด ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นในบางรายอาจเสียภาษีแค่บางอย่าง แต่บางรายอาจต้องเสียภาษีแทบทั้งหมดดังที่กล่าวมา 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องทำความเข้าใจเงื่อนไข และข้อกฎหมายด้านภาษีที่เกี่ยวข้องให้ถ่องแท้ เพื่อให้ตนเองได้ทำหน้าที่ผู้เสียภาษีที่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎมหายกำหนด 

​​

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting