‘เอสซีบี เอกซ์’ มอง ‘AI’ เป็น ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’

‘เอสซีบี เอกซ์’ มอง ‘AI’ เป็น ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’

‘อารักษ์‘ เอสซีบี เอกซ์ ชี้การขับเคลื่อนธุรกิจด้วย AI เป็น ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ หากธุรกิจ ไม่นำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ อาจอยู่ไม่รอดในระยะยาว เตรียมออก “ไต้ฝุ่น” เวอร์ชันใหม่กลางปี 2567 หวังเกิดประโยชน์ในวงกว้างสู่ธุรกิจ - เศรษฐกิจไทย  

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันหลายธุรกิจมีการขับเคลื่อนด้วย Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทและใช้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งการนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ให้องค์กร ใช้ในการช่วยลดต้นทุน และทำให้องค์กรสามารถตอบโจทย์ หรือเป็นที่ต้องการบนโลกยุคใหม่ๆ มากขึ้น 

กลุ่มการเงิน “เอสซีบี เอกซ์” ที่มองเห็นความสำคัญของ “AI” และเป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่นำ “AI” เข้ามาใช้ในกระบวนการทำธุรกิจมากขึ้น

‘เอสซีบี เอกซ์’ มอง ‘AI’ เป็น ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’

อารักษ์ สุธีวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (DataX) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX มองว่า การใช้นำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ภายในองค์กรวันนี้ เขามองว่า 

“AI” ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ของธุรกิจที่มีการเอาเทคโนโลยีเอไอมาใช้ และถือเป็นตัวกลางสำคัญในการช่วยปรับเปลี่ยนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

“เอสซีบี เอกซ์” ถือเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มองเห็นความสำคัญของ Generative AI อย่างมาก และตั้งเป้าหมายในการเป็น “AI-First Organization” ที่องค์กรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเอไอมาโดยตลอด

โดยเฉพาะ Generative AI ที่เข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการทำงาน กระบวนการในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เข้ามาช่วยในการดูแลลูกค้ามากขึ้น รวมถึงเข้ามาช่วยในกระบวนการให้สินเชื่อต่างๆ

“เรามองเห็นการเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอ เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถทำในหลายสิ่งหลายอย่างได้ จากเดิมที่แต่ก่อนไม่สามารถทำได้ เช่น เข้ามาช่วยด้านการให้สินเชื่อ หรือเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำ ที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรมากขึ้น”

สำหรับเป้าหมายในการเป็น AI-First Organization ของเอสซีบี เอกซ์ เขามองว่ามีในหลายมิติด้วยกัน เช่นเรื่องของการลงทุน เพื่อนำมาใช้พัฒนาศักยภาพการให้บริการต่างๆ ในด้านการลงทุน จะทำผ่าน “เอสซีบี เท็นเอกซ์” (SCB10X) ที่มุ่งเน้นในการลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเอไอ เพื่อนำมาใช้พัฒนาศักยภาพ การให้บริการต่างๆ ให้กับกลุ่ม เอสซีบี เอกซ์ ที่จะเห็นมากขึ้น

นอกจากนี้ เอสซีบี เอกซ์ พยายามนำเอไอ มาใช้ในวงกว้างมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการนำเอไอ เข้ามาใช้ในวงกว้างกับองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานของเอสซีบี เอกซ์ ที่ต้องมีความรู้ ความสามารถด้านเอไอให้ได้ถึง 80% ของพนักงานทั้งหมด และยังมีพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องมีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาเอไอเพื่อใช้ต่อยอดในองค์กรต่อไปได้ เช่นเดียวกัน เอสซีบี เอกซ์ ตั้งเป้า ภายใต้ 3 ปี จะมีรายได้ทั้งทางตรง และทางอ้อมประมาณ 75% จะต้องมาจาก AI

ด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้ “เอสซีบี เท็นเอกซ์” ที่ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนใน “เวนเจอร์ แคปปิตอล” ปัจจุบันมีงบลงทุนอยู่ราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3-4 พันล้านบาท เพื่อเข้าไปสนับสนุนสตาร์ตอัปต่างๆ

ขณะเดียวกัน เอสซีบี เอกซ์ ก็ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวกับเอไอ หรือการสร้างพาสเนอร์ชิพใหม่ๆ ที่ล่าสุด เอสซีบี เอกซ์ อยู่ระหว่างพูดคุยเพื่อใช้ต่อยอดเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “เอสซีบี เอกซ์” ต่อไปในระยะข้างหน้า

เทคโนโลยีเอไอใหม่ๆ ที่ เอสซีบี เอกซ์ มีการพัฒนา และทำออกมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา เช่น ChatGPT ที่เป็นเวอร์ชันภาษาไทย และเพื่อให้ตอบโจทย์ในหลายเรื่องมากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ การเข้าใจ และสามารถตอบหรือสื่อสารที่มีความแม่นยำมากขึ้น ภายใต้การพัฒนา ChatGPT “ไต้ฝุ่น” Typhoon ที่เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นโดยรองรับภาษาไทย

การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากถูกนำมาใช้ได้วงกว้างที่เป็นประโยชน์มากขึ้นแล้ว ยังสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ด้วย เพราะหากมีการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ หากถูกเลิกใช้ เหล่านี้ก็อาจเกิดปัญหาต่อธุรกิจตามมาได้

จึงเป็นที่มาของออก ChatGPT “ไต้ฝุ่น” ขึ้นมาเวอร์ชันแรกในช่วงปลายปี 2566 เป้าหมายของ เอสซีบี เอกซ์ ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และช่วยกันร่วมพัฒนาต่อยอดออกไปอีก ไม่ได้ตั้งใจเฉพาะแค่นำมาใช้ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์เท่านั้น แต่หวังว่า “ไต้ฝุ่น” จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ที่สามารถมาใช้ และพัฒนาต่อได้

และการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ เอสซีบี เอกซ์ จะไม่หยุดยั้งในการพัฒนา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา ChatGPT “ไต้ฝุ่น” เวอร์ชันใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเห็นออกมาได้ภายในกลางปีนี้ เพื่อทำให้โมเดลมีความแข็งแกร่ง และเกิดการพัฒนา และสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้มากขึ้น

สุดท้ายแล้ว “อารักษ์” มองว่า “เอไอ” คือ ทางรอด ไม่ใช่ทางเลือกของบริษัท ที่สำคัญกับองค์กรอย่างยวดยิ่ง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีมาใช้กับกระบวนการทำธุรกิจ การนำมาใช้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันใหม่ๆให้กับองค์กร หรือเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และสามารถออกสินค้า หรือตอบโจทย์ลูกค้าบนความเร็วที่มากขึ้นแต่หากบริษัทไม่สามารถนำ “เทคโนโลยีเอไอ” มาใช้กับองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ได้ เขามองว่า ก็มีโอกาสที่ “องค์กร” นั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว เพราะเทคโนโลยีเอไอ คือ ทางรอดของบริษัทขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ในอนาคต

แต่การสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดการนำเทคโนโลยีเอไอ มาใช้กับองค์กรมากขึ้น ไม่ใช่เกิดเพียงแค่การสนับสนุนจากแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศของ “เอไอ” ในเมืองไทยเกิดขึ้น!!!

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์