ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

วันนี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ไตรมาสสอง หลังไตรมาสหนึ่งผ่านไปแบบเงียบๆไม่หวือหวา ไม่มีอะไรเกินความคาดหมายในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ที่ดูร้อนแรงและน่าติดตามคือตลาดหุ้นโลกที่ดัชนีในหลายประเทศพุ่งทะยานเกินการคาดหมาย

ทําให้ตลาดหุ้นโลกในไตรมาสหนึ่งปีนี้เป็นไตรมาสหนี่งที่ดีที่สุดในรอบหลายปี คําถามคืออะไรเกิดขึ้น ทําไมตลาดหุ้นไปได้ดีทั้งที่เศรษฐกิจโลกกําลังชะลอ และจะไปต่อได้อย่างเข้มแข็งหรือไม่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ไตรมาสแรกปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นโลก MSCI World เพิ่มขึ้น 8.5 เปอร์เซ็นต์จากสิ้นปีที่แล้ว ถือว่าสูงนําโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ดัชนี Nikki 225 เพิ่มขึ้น 20.6 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นสหรัฐที่ ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นจีน ดัชนี Shanghai comp เพิ่ม 2.2 เปอร์เซ็นต์

ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศยูโรโซน ดัชนี EURO STOXX 50 เพิ่มขึ้น 12.4 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นสหราชอาณาจักร ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์

สังเกตได้ว่าตลาดหุ้นประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้น มากบ้างน้อยบ้างตามพื้นฐานเศรษฐกิจ แม้ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตามการปรับลดลงของเงินเฟ้อและแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลงเพื่อปูทางไปสู่การฟื้นตัวที่เข้มแข็งมากขึ้นในปีหน้า

สำหรับตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ดัชนี MSCI Emerging Markets เพิ่ม 1.9 เปอร์เซ็นต์ ตํ่ากว่าดัชนีโลก โดยดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่ม 13.6 เปอร์เซ็นต์ อินเดียเพิ่ม 1.95 เปอร์เซ็นต์ ไต้หวันเพิ่ม 13.1 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซียเพิ่ม 5.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ลงก็มี เช่น ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง

ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

ที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้คือ ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น ทั้งสองตลาดปรับตัวดีขึ้นโดดเด่นในไตรมาสหนึ่งแม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะต่างกัน เป็นตัวอย่างของความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่น ทิศทางตลาดหุ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจ

กรณีสหรัฐชัดเจนว่าความเข้มแข็งของตลาดหุ้นในไตรมาสหนึ่งปีนี้เ ป็นผลจากสามปัจจัย ปัจจัยแรก และสำคัญสุดคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการทํานโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อลงได้จากระดับที่สูงโดยเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

คือนําเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะซอฟต์แลนดิ้ง ความสำเร็จนี้ทำให้นักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มลดลงในปีนี้และปูทางไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นในปีหน้า

ปัจจัยที่สอง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เศรษฐกิจไปได้ดีช่วงไตรมาสแรก ทั้งการขยายตัว การจ้างงาน และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ความเข้มแข็งนี้คาดว่าจะมีต่อเนื่อง สนับสนุนโดยอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ทําให้ความสามารถในการทํากำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่จะดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยบวกทั้งต่อการลงทุนและตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

ปัจจัยที่สาม คือ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่กําลังบูมมากในสหรัฐเพราะ AI จะนําไปสู่การปรับตัวด้านนวัตกรรมของธุรกิจทุกประเภทในสหรัฐที่จะต้องนําAI มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพธุรกิจ ภาวะบูมช่วงเเรกจำกัดอยู่กับหุ้นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี AI ซึ่งที่บูมมากก็เช่น บริษัท Nvidia ที่มูลค่าหุ้นบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐช่วงไตรมาสหนึ่งปีนี้ หลังจากนั้นภาวะบูมก็กระจายไปสู่บริษัทในตลาดหุ้นในวงกว้าง ทําให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

เห็นได้ว่า กรณีสหรัฐภาวะบูมในตลาดหุ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่เข้มแข็ง เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ

แต่เศรษฐกิจที่เข้มแข้งและตลาดหุ้นที่บูมก็สร้างข้อจำกัดมากขึ้นต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เพราะนอกจากจะทำอัตราเงินเฟ้อลดลงยากจากที่การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง

การลดอัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจและดันให้ตลาดหุ้นยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น สร้างความเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาอีกและหรือเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นสหรัฐที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทําให้การพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และธนาคารกลางสหรัฐก็ย้ำเรื่องนี้

ต่อคําถามว่าภาวะบูมเช่นนี้จะไปต่อได้นานแค่ไหน ชัดเจนว่าถึงจุดหนึ่งเมื่อราคาหุ้นปรับสูงขึ้นระดับหนึ่งตลาดก็จะปรับฐาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากภาวะบูมในหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่ม ที่ตลาดมองว่าราคาหุ้นได้เพิ่มสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน จึงเริ่มปรับฐาน เป็นกลุ่มหุ้นที่นําการปรับฐาน หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เช่น เงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาอีก หรือมีข้อกังวลเรื่องนโยบายว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแย่ลงในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาวะบูมในตลาดหุ้นเริ่มอ่อนแรงหรือกลับทาง

ที่นักลงทุนเริ่มห่วงมากขึ้นคือ นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้

ที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีอาจมีแนวโน้มไม่สนับสนุนกลไกตลาดและการค้าเสรีที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจสหรัฐเช่น กีดกันการค้า แทรกแซงและควบคุมกลไกตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐที่แย่ลง นโยบายการเมืองระหว่างประเทศที่ทําลายดุลยภาพอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจ และปัญหาหนี้สาธารณะว่าจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร

ความชัดเจนในนโยบายเหล่านี้จะมีมากขึ้นใกล้การเลือกตั้ง และถ้าออกมาแบบผิดหวังก็จะเป็นชนวนให้ตลาดหุ้นปรับตัว

ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

กรณีตลาดหุ้นญี่ปุ่น ภาวะบูมเป็นการตอบรับการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ที่ให้กลไกตลาดทํางานมากขึ้นและผลที่เกิดขึ้นได้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้น เช่นการอ่อนค่าของเงินเยนที่ทำให้การส่งออกได้ประโยชน์ บริษัทญี่ปุ่นกำไรดี และค่าจ้างแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้น

ซึ่งสำคัญสุดคือ นโยบายการเงิน ที่ยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบ และมาตรการการควบคุมการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นการปลดปล่อยให้กลไกตลาดการเงินทํางานและนําการบริหารจัดการเศรษฐกิจกลับสู่การใช้เครื่องมือปรกติ ตลาดหุ้นจึงพุ่งทะยาน

แต่ภาวะบูมในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจเป็นระยะสั้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอ่อนแอ มีปัญหาสังคมสูงวัยที่จํากัดการเติบโตของเศรษฐกิจ

ล่าสุดร้อยละ 30 ของประชากรญี่ปุ่นอายุมากกว่า 65 ปี มีปัญหาเริ่องหนี้สาธารณะที่ต้องแก้ไข ล่าสุดอยู่ที่ 255 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และภาคการผลิตที่ต้องการการปรับตัวด้านนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่แก้ไขก็จะจํากัดการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะต่อไป

นี่คือสองตัวอย่างจากสองตลาดหุ้นที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและการทํานโยบายเศรษฐกิจที่ดีสําคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทิศทางตลาดหุ้น ทําให้ตลาดหุ้นปรับตัวในทางบวกในระยะสั้นได้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวตํ่า หรือชะลอ หรือมีข้อจำกัดมาก เป็นข้อคิดสำคัญสำหรับการทํานโยบายและตลาดหุ้นในบ้านเรา

ตลาดหุ้นโลก ไตรมาสหนึ่งสะท้อนอะไรบ้าง

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธาน มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]