‘สแทชอเวย์’สแกน3ตลาดหุ้น ‘ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน’ฝ่าความเสี่ยง

‘สแทชอเวย์’สแกน3ตลาดหุ้น  ‘ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน’ฝ่าความเสี่ยง

เศรษฐกิจสหรัฐซอฟต์แลนด์ดิ้งปี 2566 ยังคงแข็งแกร่ง และไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Recession ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ! ทำให้ปัจจุบัน ตลาดได้เปลี่ยนความคาดหวังมาเป็น “Soft Landing” (ควบคุมเงินเฟ้อได้โดยเศรษฐกิจยังเติบโตต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ)

แม้ บลจ. สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัดจะมองว่า "มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย"  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ Recession ในปี 2567 ผู้จัดการกองทุน บลจ.สแทชอเวย์ ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่อง “เลวร้าย” สำหรับการลงทุนเสมอไป

เพราะอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอย่างในปัจจุบัน ทำให้เฟดสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้หากจำเป็น ซึ่งจะกลายเป็นแรงสนับสนุนที่ดีต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

ล่าสุด ทาง บลจ.สแทชอเวย์ ได้สำรวจความเสี่ยงและโอกาสลงทุนในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก อย่าง ภาพเศรษฐกิจ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ที่ส่งผลต่อนักลงทุนในปี 2567 อย่างไร นักลงทุนควรรับมืออะไรบ้าง ซึ่งเป็นปี ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพยายามนำพาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกลงจอดแบบ Soft Landing ให้ได้ 

‘สแทชอเวย์’สแกน3ตลาดหุ้น  ‘ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน’ฝ่าความเสี่ยง

“ยศกร นิรันดร์วิชย” กรรมการผู้จัดการ บลจ. สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองแรกเริ่มจาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ว่า ยังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาพลังงานทำให้ ECB อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เศรษฐกิจยุโรปซบเซาเนื่องจากยุโรปพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมากกว่า และได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานมากกว่าสหรัฐ

ดังนั้น ตลาดหุ้นยุโรป อาจเผชิญอุปสรรคมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะบริษัทในดัชนี MSCI EMU Index กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นหุ้นวัฏจักรที่มักเคลื่อนไหวตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ค่าเงินยูโรอยู่ในระดับคงที่หรืออ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

“ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” การปฏิรูปโครงสร้างอาจเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจตลาดญี่ปุ่นอีกครั้ง แม้บริษัทญี่ปุ่นจะค่อยๆ เพิ่มการซื้อหุ้นคืนและเพิ่มการจ่ายเงินปันผลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะการออกมาตรการของตลาดหุ้นโตเกียว เมื่อเร็วๆ นี้ (กระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่ม P/B ratio) ที่สร้างความตื่นเต้นให้นักลงทุน ซึ่งในระยะสั้น อาจช่วยกระตุ้นการซื้อหุ้นคืนและเพิ่มการจ่ายเงินปันผล และในระยะยาว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชน

ดังนั้น แรงสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปภาคเอกชนแต่เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจหมายความว่าผลตอบแทนของ “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” ในปีนี้อาจไม่สูงเท่าปี 2566 ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

สุดท้าย “ตลาดหุ้นจีน” ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอทำให้มีอัปไซด์ ระยะสั้นที่จำกัดเพราะยังคงมองว่ารัฐบาลจีนจะพยายามจัดการกับความเสี่ยงในระบบการเงินต่อไป โดยยังมีความกังวลเรื่องหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น (LGFV) ที่จะถึงกำหนดชำระในปีนี้ 651,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม จากการที่ Credit Spread ของ LGFV ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของรัฐบาลในการป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ 

แม้ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า “ตลาดหุ้นจีน” ยังไม่น่าสนใจนักในระยะสั้น แต่ราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้

โดยการวิเคราะห์ของ บลจ.สแทชอเวย์ พบว่าความเสี่ยงที่ระบบการเงินจีนจะล่มสลายนั้นมีค่อนข้างน้อย และแม้เศรษฐกิจจีนอาจยังไม่ฟื้นตัวเร็วๆ นี้ แต่นักลงทุนที่มีความอดทนอาจมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว