ครัวเรือนภูมิภาค ใช้บริการทางการเงินจากแหล่งใด

ครัวเรือนภูมิภาค ใช้บริการทางการเงินจากแหล่งใด

จากบทความ “ทำความรู้จักครัวเรือนในภูมิภาค ผ่านมิติภาคการเงิน” เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ที่ชี้ให้เห็นมุมมองด้านการเงินทั้งเรื่องรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สิน รวมถึงสถาบันการเงินที่มีบทบาทมากกับครัวเรือนในภูมิภาค

ซึ่งกว่า 60% ของครัวเรือนในภูมิภาคนิยมฝากเงินและกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และสถาบันการเงินกึ่งในระบบ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์

 บทความนี้จึงอยากเจาะให้ลึกขึ้นว่า ทำไมคนในภูมิภาคถึงเลือกที่จะใช้สถาบันการเงินเหล่านี้มากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ โดยมีเหตุผลที่สำคัญ 3 ข้อ ดังนี้

1.จำนวนสาขาและช่องทางการให้บริการของ SFIs กองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์ที่ครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาค 

สาขาและจุดให้บริการของ SFIs เรียกได้ว่ามีแทบจะทุกพื้นที่ ทุกตำบล โดยปัจจุบัน SFIs มีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้นเกือบ 2,500 แห่งทั่วประเทศ และสัดส่วนจำนวนตู้ ATM และตู้รับฝากเงิน (CDM) กระจายตัวอยู่ในต่างจังหวัด กว่า 90% ของประเทศ

ส่วนกองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์ที่คนในชุมชนสามารถเดินไปใช้บริการได้เลยโดยไม่ต้องเสียต้นทุนในการเดินทาง มีจำนวนราว 80,000 กองทุน และกว่า 6,000 สหกรณ์ ทั่วประเทศ ตามลำดับ

นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีบริการที่เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการโดยไม่ต้องไปที่สาขาอย่างบริการนอกสถานที่ (Mobile Unit) ทั้งในรูปแบบรถเคลื่อนที่หรือจุดให้บริการในชุมชนและพื้นที่ห่างไกล

ที่เพียงนัดหมายวันเวลาและสถานที่ให้คนในชุมชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาใช้บริการทั้งรับฝากเงิน โอนเงิน ชำระเงิน และชำระหนี้ในวันและเวลาดังกล่าวได้

2.ผลิตภัณฑ์และการบริการมีความยืดหยุ่น เหมาะกับพฤติกรรมและความต้องการของประชาชนในภูมิภาค อาทิ

(1) ผลิตภัณฑ์เงินฝาก คนในชุมชนสามารถเริ่มต้นฝากเงินที่สหกรณ์หรือกองทุนหมู่บ้าน ได้ตั้งแต่หลักสิบบาท รวมถึงมีทางเลือกในการให้ผลตอบแทนที่เป็นสิ่งของจำเป็นที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น กะปิ น้ำปลา แทนการให้ผลตอบแทนด้วยดอกเบี้ย

SFIs บางแห่งมีผลิตภัณฑ์สลากออมทรัพย์ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการชอบเสี่ยงโชคของคนในภูมิภาค โดยเมื่อฝากเงินแล้วยังสามารถลุ้นรับของหรือเงินรางวัลคล้ายกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งพบว่าสลากออมทรัพย์เป็นที่นิยมมากในภาคเหนือ แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในภาคอีสาน

(2) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ด้วยประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร และภาคบริการเป็นหลัก จึงนิยมกู้เงินจาก SFIs เพื่อประกอบอาชีพและอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์ตามกลุ่มอาชีพ

เช่น กลุ่มเกษตรกรที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่กู้เงินจากธนาคารออมสิน และกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีหลักประกันที่กู้เงินจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เป็นต้น

 ส่วนกองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์ มีจุดเด่นที่คนในชุมชนที่เป็นสมาชิกฝากเงิน สามารถขอกู้ได้โดยไม่ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานมากนัก เพราะเจ้าหน้าที่รู้จักพฤติกรรมของคนในชุมชนเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีโครงการใหม่ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้พฤติกรรมการชอบเสี่ยงโชคมาเป็นแรงจูงในการชำระหนี้ เช่น ทุกการชำระหนี้ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิในการลุ้นรับของรางวัลทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

(3) สวัสดิการและบริการอื่นๆ กองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์มีการให้สวัสดิการเพิ่มเติมสำหรับสมาชิกที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวและวัฒนธรรมที่คนในภูมิภาคให้ความสำคัญ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าฌาปนกิจ ทุนการศึกษาบุตร รวมถึงมีการให้บริการโดยพนักงานของ SFIs ที่เข้าถึงและรู้จักลูกค้าในพื้นที่และให้คำแนะนำเมื่อต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

3.ทัศนคติของคนในภูมิภาคที่รู้สึกสะดวกใจที่จะเข้าไปใช้บริการที่ SFIs และกองทุนหมู่บ้าน เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องเตรียมตัวเพื่อไปใช้บริการที่สาขา และหลายแห่งมักจะใช้ภาษาท้องถิ่นในการให้บริการ

โดยสรุปแล้ว พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนในภูมิภาค ส่วนใหญ่จะเลือกใช้บริการจาก SFIs กองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์ ด้วยเหตุผลหลักด้านช่องทางการให้บริการที่เข้าถึงพื้นที่ต่างจังหวัดและชนบท การมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมความรู้สึกสะดวกใจของคนในพื้นที่

หากมองไปในอนาคต พฤติกรรมดังกล่าว สอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ที่ช่วยให้รายย่อยหรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัล (Digital payment) เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงและสะดวกมากขึ้น

 โดยเห็นได้ชัดว่าคนไทยใช้ Digital Payment มากขึ้นถึง 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมาและทำธุรกรรมผ่านธนาคารทางโทรศัพท์เป็นอันดับหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ การเปิดกว้างในการแข่งขัน (Open Competition) ให้ผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่เข้ามาให้บริการและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน น่าจะเป็นอีกนโยบายที่จะทำให้ผู้คนในภูมิภาคมีทางเลือกในผลิตภัณฑ์และตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด