ทีมศก.ปชป.ชู "ธนาคารหมู่บ้าน" 2 ล้านบาท8หมื่นชุมชน อุ้ม SMEs-Start Up

ทีมศก.ปชป.ชู "ธนาคารหมู่บ้าน"  2 ล้านบาท8หมื่นชุมชน อุ้ม SMEs-Start Up

"ทีมเศรษฐกิจ " ประชาธิปัตย์ ชูนโยบาย "ธนาคารหมู่บ้าน" 2 ล้านบาท8หมื่นชุมชน ดันตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อุ้ม SMEs-Start Up "พิสิฐ" ยันยึดพ.ร.บ.สถาบันการเงิน -ไม่ก่อหนี้เสีย

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 3 “ปชป.ชูนโยบายกระตุ้น ศก.ไทย โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ” นำโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์  กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และทีมผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์  กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน แห่งละ 2 ล้าน ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแหล่งเงินที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงง่ายที่สุด

ซึ่งจะกระจายลงไปใน 8 หมื่นหมู่บ้านหรือชุมชน ๆ ละ 2 ล้านบาท ใช้เงิน 1.6 แสนล้านบาท เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นไม่ใช่เพื่อการยังชีพแต่เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเอง โดยไม่ต้องมีหลักประกัน จะเป็นการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้แคบลง

คนที่นำเงินไปฝากจะได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคารพาณิชย์ ส่วนคนที่กู้เงินก็สามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ระบบ Application ซึ่งการทำงานจะไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ จะเป็น Database ของแต่ละชุมชน สร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้ฐานการเงิน การคลังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่

ทั้งนี้นอกจากการช่วยเหลือทั้งการเงินและโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในอนาคต และโนฮาวในการทำธุรกิจแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะนำกลไกตลาดเงินมาแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส. และไม่สามารถบริหารจนกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากโดยพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เฉพาะสำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการคือซื้อหนี้เสียออกมาจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำหนี้เสียของเกษตรกรมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ เช่นเดียวกับหนี้เสียของผู้ประกอบการรายย่อย SME และกลุ่ม Start Up ก็จะใช้โครงสร้างและหลักการเดียวกัน

ด้านนายพิสิฐ กล่าวเสริมว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้

แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสินในชุมชนไปดูแลให้ตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีตจนกลายเป็น"หนี้เสีย"

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนนโยบายธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน แห่งละ 2 ล้าน ต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนว่า

ไม่ใช่ธนาคารแห่งประเทศไทยมากำกับดูแล แต่หลักคิดคือ ให้ชุมชนดูแลชุมชน เพราะคนในชุมชนรู้ดีว่าใครน่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งหลักคิดนี้พิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในการกำกับดูแลสินเชื่อขนาดเล็ก  (Micro Credit) อันนี้เป็นเป้าหมายชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์และเป็นจุดต่างเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ

ทั้งนี้นายเกียรติ กล่าวย้ำว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปดูแลฐานรากให้เข้มแข็งจะลดความเหลื่อมล้ำด้วยตัวโครงการนั้น ๆ เอง แต่ถ้าไปดูนโยบายลักษณะเดียวกันบางพรรคกลับเพิ่มเหลื่อมล้ำ เช่น กรณีที่จะมีการนำเงินงบประมาณไปให้คนที่ไม่จำเป็นต้องช่วย อันนี้เพิ่มความเหลื่อมล้ำทันที รวมไปถึงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์จะเน้นใช้เงินน้อย แต่ต้องได้ผลเยอะ

เพราะประเทศไทยมีเงินงบประมาณจำกัด เป็นเงินภาษีประชาชน ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ต้องชัดเจนว่าใครเป็นคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่หว่านไปทั่ว ธุรกิจรายเล็กรายน้อย อาชีพอิสระรายเล็กรายน้อย เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ไม่ใช่ธุรกิจที่ยืนอยู่ได้บนขาตัวเอง เงินทุกบาททุกสตางค์จะลงไปที่กลุ่มของผู้ที่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้