เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์

เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์

“เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์” เป็นสินทรัพย์ลงทุนอย่างหนึ่งที่ปลอดภัย มีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปอยู่พอสมควร และ เหมาะกับตัวเองที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ซับซ้อน เรียกว่า Low Risk, Acceptable Return

วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP®

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มา คงได้ความรู้และมีวิธีการลงทุนในหลายๆรูปแบบมากขึ้นไม่มากก็น้อยใช่มั้ยครับ ผมมีอีกหนึ่งเรื่องที่อยากมาเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกัน นั่นก็คือเรื่อง “เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์” ครับ วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจการลงทุนในเงินฝากประเภทนี้มากขึ้น 

“เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์” เป็นสินทรัพย์ลงทุนอย่างหนึ่งที่ผมมักจะพบเจออยู่เสมอในตอนที่เข้าไปทำแผนการเงินให้กับลูกค้า โดยเหตุผลที่หลายๆท่านเลือกลงทุนในเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นมักจะไปในทิศทางเดียวกันก็คือ รู้สึกว่าปลอดภัย มีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปอยู่พอสมควร และ เหมาะกับตัวเองที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ซับซ้อน เรียกว่า Low Risk, Acceptable Return

ถ้าหากเป็นเมื่อสิบปีก่อน เหตุผลเหล่านี้ ก็พอจะมีน้ำหนักดึงดูดให้ เงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ดูน่าสนใจขึ้นมา ทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกได้ว่า มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับเงินฝาก โดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก แต่ทว่าในวันนี้ เหตุผลเหล่านี้อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะ จาก ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายคืนค่าหุ้นกรณีสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม หรือสหกรณ์ที่มีแนวโน้มขาดทุนสะสม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ประกาศออกมา จะเห็นได้ว่า การฝากเงินใน สหกรณ์ ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้ และอาจจะถึงขั้นไม่ได้เงินคืนเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน โดยเราลองมาดูใจความสำคัญของ ระเบียบตัวนี้กันดีกว่าครับ

โดยใจความสำคัญของ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ฉบับนี้นั้นก็คือ การกำหนดให้ สหกรณ์จะต้องคำนวณมูลค่าต่อหุ้นให้เป็นประจำทุกปี (โดยการนำสินทรัพย์ทั้งหมดหักด้วยหนี้สินแล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ได้ชำระเต็มแล้ว) แล้วเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีนั้นๆ และเมื่อมีเหตุจะต้องจ่ายคืนค่าหุ้น สหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมหรือมีแนวโน้มขาดทุนสะสม (ขาดทุนสุทธิติดต่อกัน 2 รอบปีบัญชีย้อนหลังติดต่อกันและ ทุนสำรองปีล่าสุดหลือน้อยกว่าร้อยละสิบของทุนสำรองจากปีก่อน) จะให้จ่ายคืนค่าหุ้นได้ไม่เกินร้อยละสิบ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยให้ลำดับการจ่ายคืนตามเหตุจากการขาดจากสมาชิกภาพดังนี้ (๑)ตาย (๒)เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เหตุอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

และนอกจากนั้น หากสหกรณ์คำนวณแล้วพบว่ามูลค่าต่อหุ้นเป็นศูนย์หรือติดลบ สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพในขณะนั้น จะได้รับคืนค่าหุ้นที่มีค่าเท่ากับศูนย์ หรือไม่ได้รับเงินคืนค่าหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทายาทของสมาชิกที่สิ้นสภาพตาม ข้อ (๑) และ (๒) หากมูลค่าหุ้นลดลงหรือติดลบหรือเป็นศูนย์ ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับโอนค่าหุ้นคืนโดยเลือกเป็นการรับโอนมาเป็นหุ้นแทนได้ครับ

จากใจความของระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ นี้จะเห็นได้ว่าคนที่จะได้รับผลกระทบ ก็คือคนที่ฝากเงินใน สหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนหรือมีแนวโน้มที่จะขาดทุน โดยกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นและต้องระวังก็คือ เมื่อสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งเข้าเงื่อนไขขาดทุนหรือมีแน้วโน้มจะขาดทุน ทำให้สมาชิกสหกรณ์กลัวแล้วพากันไปถอนเงินออก แต่กลับกลายเป็นว่าจะมีผู้ถอนเงินออกมาจากสหกรณ์นั้นได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น 

โดยลำดับความสำคัญจากสาเหตุการขาดสมาชิกภาพ โดย เหตุจากการเสียชีวิตมาเป็นอันดับแรก นั่นหมายความว่าสมาชิกอีก 90% ที่เหลือ จะต้องรอในปีต่อๆไปถึงจะนำเงินออกมาได้ โดยถ้าในปีต่อมานั้นสหกรณ์ยังทำผลงานได้ขาดทุนอยู่เหมือนเดิม เงินที่จะได้รับก็จะยิ่งได้น้อยลงไปอีก และถ้าในปีนั้นมี สมาชิกสิ้นสภาพด้วยเหตุแห่ง การเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ครบ 10% แล้ว สมาชิกท่านอื่นก็ต้องรอต่อไปอีกปี ยิ่งถ้าสหกรณ์นั้นขาดทุนไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ยิ่งถอนเงินออกช้าก็ยิ่งจะมีแนวโน้มว่าจะขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆไปด้วย 

คำถามก็คือ หากเรามีการลงทุนในเงินฝากสหกรณ์อยู่แล้ว ควรจะปฏิบัติอย่างไรดี ? คำแนะนำก็คือ ผู้ลงทุนควรจะหมั่นตรวจสอบผลประกอบการของ สหกรณ์ที่ท่านนำเงินไปลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ดูว่าผลประกอบการมีกำไรหรือไม่ และมูลค่าหุ้นนั้นมีการเติบโตหรือลดลงอย่างไร เพื่อวางแผนการลงทุน และ จัดสรรการลงทุนของเราต่อไปครับ