"อสังหาริมทรัพย์" มี "ค่าเสื่อมราคา" นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างไร

"อสังหาริมทรัพย์" มี "ค่าเสื่อมราคา" นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างไร

เปิดหลักการและวิธีคำนวณค่าเสื่อมของอสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจที่นำอสังหาริมทรัพย์มาใช้ในการประกอบกิจการ สามารถนำมาคำนวณค่าเสื่อม เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

อย่างที่ทราบกันดีว่า สิ่งปลูกสร้างที่เรานำมาใช้เพื่อการประกอบกิจการนั้น มี "ค่าเสื่อมราคา" ด้วย เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ซื้อใหม่หรือที่ซื้อมานานแล้ว ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และมีมูลค่าเสื่อมสภาพไม่เท่ากัน ทำให้การคิดค่าเสื่อมราคาควรเลือกวิธีคิดให้เหมาะสมกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต่างกัน โดยต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้งานและลักษณะความเสื่อมค่าของทรัพย์สินด้วย

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่กิจการนำที่อสังหาริมทรัพย์มาใช้ในการประกอบกิจการ สามารถนำมาคำนวณค่าเสื่อม เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยหลักการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการจากสภาพอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเสื่อมราคานี้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิได้ โดยมีหลักการและวิธีการคำนวณดังที่จะอธิบายต่อไปนี้...

"ค่าเสื่อมราคาอสังหาริมทรัพย์" เป็นอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “ค่าเสื่อมราคา” และ “อสังหาริมทรัพย์” กันก่อน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

อสังหาริมทรัพย์ คือที่ดินกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพย์สินอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

ค่าเสื่อมราคา คือ

1.ต้นทุนเดิมและมูลค่าสินทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์

2.ผลรวมของค่าเสื่อมราคาตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์จะเท่ากับต้นทุนของสินทรัพย์หักด้วยราคาซาก

3.วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา จะเป็นการจัดสรรต้นทุนของสินทรัพย์อย่างมีระบบแบบแผน ตามเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล ตลอดจนสอดคล้องกับประโยชน์ที่กิจการได้รับ

4.มูลค่าของสินทรัพย์จะไม่เกินราคาทุน หักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม      

ด้วยเหตุนี้จึงหมายความว่า ค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น อาคารพาณิชย์ ตึกแถว คอนโด จะมี "หลักการคิดค่าเสื่อมราคา" โดยจะต้องทำการแยกออกจากราคาที่ดินออกมาจากตัวสิ่งก่อสร้างก่อน จึงจะสามารถคิดค่าเสื่อมราคาได้

เพราะราคาที่ดินไม่ได้เสื่อมลง ส่วนอาคารจะมีการสึกหรอได้โดยขึ้นอยู่กับการใช้งาน ทำให้การคำนวณค่าเสื่อมราคาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องแยกอาคารออกจากที่ดินเสียก่อน

ค่าเสื่อมราคาอสังหาริมทรัพย์แยกตาม "ประเภทอสังหาริมทรัพย์"

การหักค่าเสื่อมราคาในกรณีของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอายุการใช้งานและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างแตกต่างกัน จะมีผลต่อค่าเสื่อมราคาดังนี้

1.สิ่งปลูกสร้างที่เป็นปูน การคิดค่าเสื่อมจะอยู่ที่ 2% ต่อปี  

2.สิ่งปลูกสร้างที่เป็นครึ่งไม้ครึ่งปูน การคิดค่าเสื่อมจะอยู่ที่ 4.5% ต่อปี

3.สิ่งปลูกสร้างที่เป็นไม้ทั้งหมด การคิดค่าเสื่อมจะอยู่ที่ 5% ต่อปี
และทางธนาคารจะคิดค่าเสื่อมเพิ่มขึ้นอีก 7% ในกรณีไม่ได้ทาสีตัวอาคาร

อะไรบ้างใช้นำมาคำนวณค่าเสื่อมราคา

หลักการคำนวณค่าเสื่อมราคา กิจการต้องรวบรวมเอกสารข้อมูลพื้นฐานให้ครบถ้วนเสียก่อน ซึ่งสามารถอธิบายโดยละเอียดได้ดังนี้

1.ราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคิดค่าเสื่อมราคา หากเป็นการคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยทั่วไป จะใช้ราคาทุนของสินทรัพย์เป็นเกณฑ์

2.การประมาณราคาซาก จะต้องทำการประมาณค่าเสื่อมราคา โดยจะต้องทำการประมาณราคาซากของสินทรัพย์ที่เลิกใช้หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว

3.การประมาณอายุการใช้งาน ต้องพิจารณาถึงการเสื่อมสภาพของสินทรัพย์ ตลอดจนต้องพิจารณาถึงค่าซ่อมแซม อายุการใช้งานอาจประมาณในลักษณะของเวลาก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา เป็นวิธีการที่ทำขึ้นเพื่อกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ให้เป็นค่าใช้จ่ายตามประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินนั้น ซึ่งจะต้องเลือกวิธีการคิดให้เหมาะสมกับสินทรัพย์นั้นๆ และต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้งาน และลักษณะการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ด้วย

หลักการคิดค่าเสื่อมราคาอสังหาริมทรัพย์

วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาสำหรับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ระบุราคาทุนได้แน่นอน ราคาทุนค่อนข้างสูง อายุการใช้งานนาน เช่น อาคาร ตึกแถว เครื่องจักร เป็นต้น จะมีวิธีการคำนวณคือ

ราคาต้นทุน x อัตราค่าเสื่อม x ระยะเวลา
= อัตราค่าเสื่อมราคา

ตัวอย่างเช่น สถานที่ประกอบกิจการ (ไม้ทั้งหมด) มีมูลค่า 10,000,000 บาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นไม้ทั้งหมด จะถูกคิดค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ปีละ 5%

ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาของสถานที่ประกอบกิจการ (ไม้ทั้งหมด) มูลค่า 10,000,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี คือ

10,000,000 x 5% = 500,000 บาท/ปี

500,000 x 10 = 5,000,000 บาท

สรุป ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาสถานที่ประกอบกิจการที่เป็นไม้ทั้งหมด จะมีค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ 5,000,000 บาท ซึ่งค่าเสื่อมราคานี้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่ามาก และมีผลต่อกำไรของกิจการสูง และถ้ากิจการไม่ทราบถึงค่าเสื่อมราคาแล้วอาจจะส่งผลต่องบกำไรขาดทุนของกิจการได้  


อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting