'ถูกเวนคืนที่ดิน' ได้เงินทดแทน ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?

'ถูกเวนคืนที่ดิน' ได้เงินทดแทน ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?

เงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนที่ดิน ถือเป็นรายได้ที่เจ้าของที่ดินได้รับ แต่จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากต้องเสียภาษีจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกัน

ช่วงนี้ข่าวถูกเวนคืนที่ดินจากหน่วยงานรัฐเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ มีออกข่าวกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จริงบ้างและเท็จบ้าง แต่ก็ทำให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ต่างๆ เกิดความกังวลใจในหลายเรื่อง ซึ่งความจริงนั้นการถูกเวนคืนที่ดินมีผลดีหรือไม่ดีกับเจ้าของที่ดินกันแน่!

รวมถึงเรื่อง “ภาษี” เนื่องจากเงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนที่ดินนี้ ถือเป็นรายได้ที่เจ้าของที่ดินได้รับ แต่จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากต้องเสียภาษีจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกัน...

เวนคืนที่ดิน คืออะไร

การเวนคืน คือการที่หน่วยงานราชการหรือภาครัฐ ได้ทำการซื้อที่ดินคืนจากเจ้าของที่ดิน เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การไฟฟ้า การประปา โครงการก่อสร้างทางหลวง ก่อสร้างถนน สร้างทางพิเศษหรือทางด่วน สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สร้างสถานีรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น

ทั้งนี้ การเวนคืนที่ดินจะเป็นไปตามแผนการพัฒนาของหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินในทันที ต้องมีการวางแผนการพัฒนาก่อน ดังนั้น เจ้าของที่ดินสามารถสำรวจผังเมืองก่อนได้ว่าที่ดินพื้นที่ไหนบ้างที่อยู่ในแผนโครงการพัฒนาบ้าง เพื่อเตรียมรับมือกับการถูกเวนคืนที่ดินในอนาคต

โดยที่ดินในการครอบครองของบุคคล เมื่อถูกภาครัฐเวนคืนที่ดินกลับไปเป็นการครอบครองของรัฐ เพื่อนำไปสร้างสาธารณประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ แล้ว การเวนคืนดังกล่าวในแต่ละครั้งจะมีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินด้วย

เงินทดแทนจากการถูกเวนคืนที่ดิน ต้องเสียภาษีหรือไม่

เมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ดินและได้รับเงินทดแทนมา แม้ว่าหลายรายอาจจะรับมาด้วยความไม่สมัครใจ แต่ในทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องของเงินทดแทนนี้ ถือเป็นรายได้ที่เจ้าของที่ดินได้รับ จำเป็นต้องนำมาเสียภาษีอีกหรือไม่ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในกรณีที่เจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อได้รับเงินทดแทนค่าเวนคืนที่ดินจากทางภาครัฐ เงินค่าทดแทนนี้จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) แต่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น เมื่อได้รับเงินค่าทดแทนนี้มา กรมที่ดินก็จะไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ด้วย

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในกรณีที่เจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคลได้รับเงินทดแทนค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ องค์กรผู้จ่ายเงินทดแทนต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของจำนวนเงินค่าทดแทน และให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของเงินค่าทดแทนที่จ่ายของนิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักภาษีไว้ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เมื่อเจ้าของที่ดินในนามบุคคลธรรมดาได้เงินทดแทนจากการเวนคืนที่ดิน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะไม่เข้าลักษณะของการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าหรือแสวงหากำไรตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไร

​ส่วนเจ้าของที่ดินในนามนิติบุคคล เมื่อได้รับเงินทดแทนค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร

4. อากรแสตมป์

โดยหลักการแล้ว หลักฐานการรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น เมื่อมีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนตามกฎหมาย จำเป็นต้องมีการปิดแสตมป์เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายนั้นครบถ้วนสมบูรณ์

​แต่ในกรณีค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินนี้ในนามบุคคลธรรมดา จะได้รับการยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เนื่องจากเป็นใบรับจากการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนนิติบุคคลที่ได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดิน จะได้รับการยกเว้นค่าอากรแสตมป์เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เนื่องจากถือว่าเป็นใบรับจากการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นใบรับที่ผู้รับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วด้วย

สรุป

อาจสรุปได้ว่า เมื่อเจ้าของที่ดินถูกเวนคืนที่ดิน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ในแผนการพัฒนาประเทศ นอกจากจะได้เงินค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินแล้ว แม้ว่าจะได้รับเงินแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่ แต่เงินที่ได้มานั้นอาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด และที่สำคัญเมื่อเจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา ก็จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ด้วย

ส่วนนิติบุคคลไม่ต้องน้อยใจไปว่าจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากที่ดินที่ถูกเวนคืนไปนั้น ก็นำไปพัฒนาสาธารณประโยชน์ให้กับทุกคนในพื้นที่อยู่แล้ว และเพื่อให้ประเทศไทยได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting