กนง. ขอ ‘3เดือน’ ทบทวนดอกเบี้ย ห่วงฉุดแก้ปัญหาหนี้-ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

กนง. ขอ ‘3เดือน’ ทบทวนดอกเบี้ย ห่วงฉุดแก้ปัญหาหนี้-ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

กนง.คงดอกเบี้ย 2.50% ท่ามกลาง 2 เสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย 0.25% รับเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอกว่าคาดและฟื้นตัวช้า ย้ำลดดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่อาจกระทบเสถียรภาพการเงิน รอดูจีดีพี เงินเฟ้ออีก 2-3 เดือน แล้วมาทบทวนใหม่ "เศรษฐา” ค้านมติแต่ไม่แทรกแซง

สร้างความเซอร์ไพรส์ต่อตลาดเงินตลาดทุนพอสมควร หลังผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ออกมา “เสียงแตก” หรือมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% และอีก 2 เสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%

จากเดิมที่ตลาดมองว่า ครั้งนี้กนง.อาจเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาจลดดอกเบี้ยลงท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนัก เพื่อให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอย่างหนัก
 

กนง. ขอ ‘3เดือน’ ทบทวนดอกเบี้ย ห่วงฉุดแก้ปัญหาหนี้-ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดยเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เพราะอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าประเมินไว้

ทั้งนี้อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำและมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมิน ซึ่ง กนง.มองเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศน้อยลง และผลกระทบปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับที่สอดคล้องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ หากดูภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเมื่อเทียบช่วงโควิด แต่การฟื้นตัวค่อนข้างช้าหากเทียบวิกฤติที่เศรษฐกิจไทยเผชิญ เช่น วิกฤติน้ำท่วม วิกฤติการเงินโลก วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งถือว่าฟื้นตัวช้าใกล้เคียงปี 2540 สะท้อนว่าปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เมื่อมีแรงกระแทกจากวิกฤติ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ได้เร็วเหมือนประเทศอื่น

ทั้งนี้ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดสะท้อนจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยภายนอก ส่งผลให้ส่งออกต่ำกว่าที่คาดแม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแต่ผลที่ทอดมาสู่เศรษฐกิจไทยไม่มาก

นอกจากนี้ หากดูด้านการท่องเที่ยวแม้จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้ที่ประเมินไว้ แต่การใช้จ่ายน้อยกว่าที่คาดแม้เป็นช่วงไฮซีซั่น รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยปรับประมาณการมาอยู่ที่ 2.5-3.0% จากเดิมที่ 3.2%

ดังนั้นนโยบายการเงินมีความสามารถจำกัด ในการดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยเชิงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยคงแก้ปัญหาการส่งออกและการผลิตได้ไม่ตรงจุด

กนง.ทบทวนจุดยืนนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้างทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้อยลง และอาจฉุดรั้งไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ดังนั้น กนง.ต้องชั่งน้ำหนัก 2 ประเด็น ทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรที่เป็นแรงส่งทำให้เศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น และปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีปัญหามานาน เพื่อนำไปสู่การทบทวนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ว่าอัตราดอกเบี้ย ที่เป็นระดับที่เป็นกลางของเศรษฐกิจไทย (Neutral rate) ควรอยู่ที่ระดับใด หากศักยภาพเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ระดับหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้คณะกรรมการกนง.2ท่าน ลงมติให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%

อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้เงินเฟ้อปัจจุบันจะอยู่ระดับต่ำ แต่ภาพรวมถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทย เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงไม่ได้ซ้ำเติมภาระค่าครองชีพเป็นสิ่งที่ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว 

ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ต่ำลงไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด เพราะนิยามของเงินฝืดนั้น สินค้าเกือบทุกรายการต้องลดลงเป็นวงกว้าง และอำนาจซื้อประชาชนลดลงอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นทั้ง 2 มิติ และเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า

“เงินเฟ้อที่ติดลบ ม.ค.1.1% สะท้อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้น จากมาตรการพลังงาน และอาหารที่ลดลง ดังนั้นมองว่า เงินเฟ้อที่ลดลงในระดับต่ำในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการลดอย่างลงอย่างยั่งยืน ไม่ได้ บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอลง แต่มาจากปัจจัยเฉพาะ”

ห่วงลดดอกเบี้ยฉุดแก้ปัญหาหนี้

ทั้งนี้เสถียรภาพระยะยาวพบว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะมีหนี้ค่อนข้างสูง มีความเปราะบางหลายส่วน ดังนั้นต้องใช้เวลาสะสาง แต่หากอัตราดอกเบี้ยไม่เอื้อการแก้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหากัดกร่อนศักยภาพเศรษฐกิจ

“นักท่องท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลงเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาว่าชั่วคราวหรือถาวร เพื่อทบทวนจุดยืนที่เป็นกลางของดอกเบี้ยนโยบายว่าจะเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพแผ่วลงระยะสั้นก็รอดูก่อน แต่ กนง.ห่วงศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ต้องเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และความสำคัญด้านเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงการสะสางหนี้เป็นต้องดำเนินต่อ ไม่ควรลดดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อฉุดกระบวนการนี้ หรือปรับลดลงระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ลักษณะของการลดเยอะๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ”

กนง.รอดูเงินเฟ้ออีก 2-3 เดือน

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยมีความพิเศษเฉพาะและมีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยถ้าลดดอกเบี้ยลงอาจทำให้ผู้กู้มีภาระผ่อนลดลง แต่ผู้ลงทุนหรือผู้ฝากเงินจะได้ผลตอบแทนต่ำลง รวมถึงกระทบผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและค่าเงิน ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ กนง.พิจารณาเศรษฐกิจไทยขยายตัวแบบชะลอลงมากน้อยแค่ไหน และดอกเบี้ยจะเสริมจุดนี้ได้หรือไม่ โดยการชะลอตัวลงส่วนใหญ่มาจากส่งออกและการท่องเที่ยว และปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นเฉพาะ และปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวสูง

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นอาจหวังผลไม่ได้มาก เพราะการบริโภคในปัจจุบันยังอยู่ระดับที่ดี และประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยต่อภาพรวมอาจไม่ชัด แต่อาจเกิดความไม่สมดุลเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งเพิ่มเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันทำงานค่อนข้างหนักผ่านกลไกสินเชื่อ แต่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยสูงอยู่แล้ว ดังนั้นอาจเป็นการเร่งเครื่องยนต์ที่ทำเต็มสูบอยู่แล้วที่อาจทำให้ไม่มีเสถียรภาพได้

“วันนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยทำงานหนักอยู่แล้วผ่านกลไกสินเชื่อ และหนี้อยู่ระดับสูง เหมือนไปเร่งเครื่องยนต์ที่ทำเต็มสูบ ดังนั้นอาจ Over Heat นิดหน่อย และหากมองระยะยาวคงไม่ยั่งยืน ดังนั้น กนง.ต้องชั่งน้ำหนักมาก และขอรอดูข้อมูลเพิ่มเติมทั้งจีดีพีของปี 2566 และเงินเฟ้ออีก 2-3 เดือนข้างหน้า และภาวะการส่งออก ค่อยมาประเมินว่า การชั่งน้ำหนักจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่ง กนง.โอเพนต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”

อย่างไรก็ตามการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ต้องคำนึงก่อน แต่ปัจจัยต่างประเทศเป็นสิ่งที่กนง.ต้องนำมาคำนึงถึงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศหลักของโลก

ปรับจีดีพีใหม่ในการประชุมครั้งหน้า

ทั้งนี้ ศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 3% หากย้อนดูการเติบโต 2-3ปีก่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.6% และเพิ่มขึ้นมาที่ 2.6% และปีก่อนที่ใกล้เคียง 2% หรือต่ำกว่า 2% ดังนั้นแม้มีปัจจัยเชิงวัฏจักรเข้ามาเสริมเศรษฐกิจไทย แต่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เร็วจึงต้องนำไปสู่การทบทวนศักยภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงระยะข้างหน้า โดยเศรษฐกิจไทยที่ 2.5-3% เป็นระดับใกล้เคียงระดับศักยภาพ

นอกจากนี้ การแสดงความเห็นทางการเมือง กนง.มองว่าเป็นความเห็นที่มีค่าเพื่อให้ กนง.ทบทวนหลายประเด็นให้รอบคอบขึ้น ซึ่งการแสดงความเห็นเป็นประโยชน์ที่แสดงได้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2566 ธปท.จะมีการประเมินและปรับประมาณการใหม่ครั้งหน้า ซึ่งต้องรอดูตัวเลขจริงจากสภาพัฒน์ที่จะออกมาในระยะเข้าข้าง ซึ่งยอมรับว่า ตัวเลขทั้งปี ต่ำกว่าที่ธปท.ประเมินไว้พอสมควร จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.4%

นายกฯไม่เห็นด้วย“คงดอกเบี้ย”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องน้อมรับมติ กนง.เพราะโดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความเห็น และโน้มน้าวว่าความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน

“เมื่อผลออกมาแบบนี้ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับเพราะ กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เราคงไม่ก้าวก่ายแต่อยากเห็นนโยบายการเงินการคลังเดินไปด้วยกัน และในตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศติดลบแล้ว”

นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่รู้สึกว่าถูกบีบอะไร โดยมีหน้าที่ต้องบริหารต้องทำความเข้าใจก็บริหารไป เป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารอยู่แล้ว ส่วนความเห็นต่างเป็นเรื่องที่ต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน

ส่วนการประชุม กนง.ครั้งต่อไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ต้องดูตัวเลขต่อไปซึ่งรัฐบาลไม่มีธงว่าต้องลดหรือไม่ลด ถ้าตัวเลขบอกว่าไม่ต้องลดผมก็จะออกมาบอกว่าไม่ควรจะลด”

“กอบศักดิ์”ชี้ลดดอกเบี้ยไม่ช่วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาของไทยไม่อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย เพราะปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือจีดีพีไม่โตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนอย่างมาเลเซีย โดยศักยภาพจริงของไทยน่าจะโต 4-5% ขึ้นไปแต่การที่โตแค่ 3% เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

รวมทั้งช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยเน้นแต่นโยบายระยะสั้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้วางแผนนโยบายเพื่อรองรับการเติบโตระยะยาวไม่ได้ ทั้งหมดจึงเป็นผลทำให้เศรษฐกิจไทยโตแบบไม่สม่ำเสมอ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ไทยมุ่งแต่การพัฒนาสินค้าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดิมมากเกินไป และสุดท้ายการดำเนินนโยบายแบบนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโตแบบผิดหูผิดตาแน่นอน เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐกับยุโรปโตมาพร้อมกัน แต่มีจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐแซงหน้าที่สหรัฐมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ในขณะที่ยุโรปผลิตแต่อุตสาหกรรมเดิม เช่น รถยนต์สันดาปภายใน

คงดอกเบี้ยสวนความต้องการนักลงทุน

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายการเงินที่จะมีการพิจารณาดอกเบี้ยของไทย โดยกรณีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี สวนทางกับความต้องการของนักลงทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และไม่มีแรงการสนับสนุนการลงทุน โดยท่าทีของเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นที่หลากหลาย โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่ง ธปท.จะมีข้อมูลเชิงลึกและมีข้อเสนอแนะที่ดีต่อภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมองถึงอัตราเงินเฟ้อค่าเงินในทุกด้าน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถเลี่ยงได้โดยฝั่งเอกชนจะพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยงได้มากที่สุด

ภาคธุรกิจปรับตัวรับภาวะดอกเบี้ยสูง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ธปท.อาจจะลดดอกเบี้ยภายในกลางปี 2567 หรือภายในครึ่งปีหลังปี 2567 ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยลง

ทั้งนี้ มติ กนง.ดังกล่าวอาจจะรอดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และหลายอย่างประกอบด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ และ GDP ประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ สำหรับทิศทางการปรับดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ดับบลิวเอชเอ มีแผนการออกหุ้นกู้เป็นช่วงปลายปี 2567 เพราะอัตราดอกเบี้ยจะลดลงหรือถ้าจะออกในช่วงต้นปีก็ปรับระยะเวลาให้สั่นลงอยู่ในช่วง 3-5 ปี อย่าออกยาวในระดับ 7 ปี โดยมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ในระดับหมื่นล้านบาท และเมื่อเดือน ม.ค.2567 ได้ออกหุ้นกู้ 850 ล้านบาท ยอดจองเกินเกือบ 3 เท่า

สำหรับดอกเบี้ยถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่มากน้อยขึ้นกับแต่ละธุรกิจ โดยผู้ประกอบการจะต้องบริหารต้นทุนดอกเบี้ยให้ดี ซึ่งไม่ได้บริหารเฉพาะดอกเบี้ยแต่ต้องบริหารต้นทุนทางการเงินอื่น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยในขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นชัดว่าเศรษฐกิจประเทศไม่ดีโดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า หนี้ครัวเรือนสูงมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยทุกครั้งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น ดอกเบี้ยควรลงอีกจึงเห็นว่า ธปท.น่าจะเห็นจุดนี้และควรลดดอกเบี้ยโดยไม่ต้องกังวลอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบมาต่อเนื่อง 4 เดือนและ ธปท.ต้องยอมรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปลายปีจะดีขึ้นแต่ไม่ดีขึ้นโดยในเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 มีมาตรการ Easy e-Receipt เพื่อลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ 50,000 บาท เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายแต่การบริโภคยังชะลอตัว