นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เงินเฟ้อ ม.ค.ติดลบ ยังไม่เข้าสู่ ‘เงินฝืด‘

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เงินเฟ้อ ม.ค.ติดลบ ยังไม่เข้าสู่ ‘เงินฝืด‘

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เงินเฟ้อ ม.ค.ติดลบกว่าคาด แต่ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เชื่อเงินเฟ้อลด จากภาครัฐเข้าไปลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพ บวกอุปสงส์ในประเทศอ่อนแอลงต่อเนื่อง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนธ.ค. ที่ติดลบกว่า 1% ในรอบ 35 เดือน  มาจากสองส่วน ส่วนแรกจากการเข้าไปช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพจากราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีภาระลดลง 

นอกจากนี้ ยังมาจาก ฝั่งอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ความต้องการสินค้าเริ่มแผ่วลง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง สะท้อนกำลังซื้อระดับล่าง ภาคเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

อย่าไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า มองว่าเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัว ดังนั้นเงินเฟ้อที่ติดลบดังกล่าว เชื่อว่า ยังไม่นำไปสู่ภาวะ ‘เงินฝืด’ เพราะเชื่อว่า เงินเฟ้อที่ติดลบ จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย กล่าวว่า ยังเร็วเกินไป ที่จะสรุปว่า เงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 4 เดือนหรือกว่า 1 ไตรมาส จะนำไปสู่ ภาวะเงินฝืด ซึ่งจำเป็นต้องดูทิศทางเงินเฟ้อ และภาพรวมเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไปถึงจะสามารถตอบได้ว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เงินฝืดหรือไม่

แต่เงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ติดลบ ถือว่าต่ำกว่าที่คาด จากเดิมที่ตลาดคาดการณ์เงินเฟ้อจะติดลบอยู่บริเวณ 0.90% ดังนั้นการที่เงินเฟ้อติดลบลงมากกว่าที่คาด ล้วนมีผลกดดันให้การเคลื่อนไหวเงินบาทวันนี้อ่อนค่าสูงสุดในภูมิภาคด้วย โดยมาอยู่ที่ระดับ 35.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ทิศทางเงินเฟ้อที่ยังติดลบ เชื่อว่า อาจนำไปสู่โอกาส ในการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ตลาดประเมินว่าอาจลดดอกเบี้ยได้ครึ่งปีหลังของปีนี้ มาเป็นเม.ย.ปีนี้มากขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์