นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธงกนง. “คงดอกเบี้ย” พุธนี้

นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธงกนง. “คงดอกเบี้ย” พุธนี้

“นักเศรษฐศาสตร์” ฟันธง 7 ก.พ.นี้ กนง.คงดอกเบี้ย “ซีไอเอ็มบีไทย” เชื่อมีโอกาสลดครึ่งหลัง “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ลดดอกเบี้ยหนุนเกิดเซนติเมนต์ “เชิงบวก” “เคเคพี” ชี้คงดอกเบี้ยอิงจาก 3 ปัจจัยหลัก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มอง กนง.รอความชัดเจนเศรษฐกิจ

หลายคนตั้งคำถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่ากำลังเดินไปสู่วิกฤติหรือไม่ หลังกระทรวงการคลังออกมาปรับลดการคาดการณ์ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 และปี 2567 ลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 1.8% และ 2.8% ตามลำดับ จากหลายเครื่องยนต์ชี้เศรษฐกิจไทยที่ทรุดลงอย่างมากทั้งการส่งออก ภาคการผลิต หรือการท่องเที่ยวที่อาจไม่ได้ดีอย่างที่คาดไว้ 

ทำให้มีหลายเสียงเรียกร้องไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจถึงเวลาที่ต้อง “ลดดอกเบี้ยลง” เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ “ดอกเบี้ย” ที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน ยิ่งกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนมากขึ้นทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ก.พ.2567 เป็นที่จับจ้องอย่างมากของนักลงทุน ท่ามกลางแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างหนัก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า คาดการณ์การประชุม กนง.รอบนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดทิศทางดอกเบี้ยโลกและรวมของไทยได้ เพราะหากมีความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ อาจนำมาสู่แนวโน้มราคาน้ำมัน เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ดอกเบี้ยอาจไม่ได้ปรับลดลงเหมือนอย่างที่คิดไว้

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่ามีโอกาสที่จะเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ได้ หากเศรษฐกิจโตช้าลง และไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนที่คาดไว้ รวมทั้งปัญหานี้ครัวเรือนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย แต่อย่าลืมว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค เพราะปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่ให้เติบโตได้ตามศักยภาพ
 

ลด ‘ดอกเบี้ย’ หนุนเซนติเมนต์เชิงบวก

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายรอบการประชุมนี้ เพราะภายใต้เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน เชื่อว่ายังสามารถเติบโตได้ และในเชิงเศรษฐศาสตร์ยังไม่เรียกว่าวิกฤติ เพราะปัญหาที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจุบันเฉพาะบางจุด ไม่ใช่ทุกจุดเผชิญวิกฤติเหมือนกันหมด ทุกเซกเตอร์ยังสามารถไปได้

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ในครึ่งหลังของปี 2567 กนง.อาจลดดอกเบี้ยลงได้หากเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง อีกทั้งมองว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.25% อาจช่วยในเรื่องเซนติเมนต์เชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยได้ เพราะต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงอาจทำให้คนมีความรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจอยากลงทุนมากขึ้น

“หากถามว่าลดดอกเบี้ยมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยไม่ ก็ต้องบอกว่ามีส่วนช่วยเพราะการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ช่วยทำให้คนรู้สึกว่าภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง อยากกู้เงินไปลงทุน มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เซนติเมนต์ลงทุนต่างๆ อาจกลับมามากขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยก็ต้องติดตามสถานการณ์อื่นด้วย เช่น เงินเฟ้อ เพราะหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ดอกเบี้ยโลก รวมถึงไทย ลดลงยากมากขึ้น”

กระทุ้งเร่งแก้ปัญหา ‘เชิงโครงสร้าง’ ก่อนไทยวิกฤติ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า คาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมครั้งนี้ที่ 2.5% คาดการณ์การประชุม กนง. รอบนี้ และมีโอกาสคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีได้

แต่หากนโยบายภาครัฐ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ มีโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ระยะ ภายใต้การชั่งน้ำหนักของ กนง.ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

“ในด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยวันนี้ เราฟื้นตัวช้าที่สุด เกือบประเทศหนึ่งในภูมิภาค และในโลก เนื่องจากยังไม่สามารถกลับไปอยู่ระดับเดิม จากก่อนโควิด-19 จากทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในของเราเอง โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น วันนี้เราเดินมาถึงจุดพลิกผันสำคัญของเศรษฐกิจไทย หากเราไม่เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ ในระยะยาวเราวิกฤติแน่”

คาด กนง.ไม่เร่ง ‘ลดดอกเบี้ย’

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในการประชุม กนง.รอบนี้ เนื่องจาก กนง.จำเป็นต้องรอหลายเรื่องให้มีความชัดเจน ทั้งภาพเศรษฐกิจที่จะออกมาชัดเจนในระยะข้างหน้า รวมถึง ดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดว่าจะลดดอกเบี้ยรวดเร็วแค่ไหน ดังนั้น หากภาพเหล่านี้ชัดเจน เชื่อว่าจะนำไปสู่การประเมินทิศทางดอกเบี้ยได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทิศทางเงินเฟ้อ ที่ติดลบ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ที่เป็นตัวฉุดรั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยให้อ่อนตัวค่อนข้างมาก 

ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ จะทำให้ปัญหากำลังซื้อจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยต่อไป ยิ่งหากดิจิทัลวอลเล็ตชัดเจนว่าไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้ เหล่านี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่เปิดทางให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดได้ จากเดิมที่คาดว่าจะเห็น กนง. ลดดอกเบี้ยครึ่งปีหลังไปแล้ว ตามการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด

“เราเชื่อว่าเสียงไม่แตก เพราะหากย้อนดูช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ กนง.มีผลเอกฉันท์ทั้งหมด ซึ่งน้อยครั้งที่มีเสียงแตก ดังนั้น คาดรอบนี้ก็เช่นกัน แต่หากเสียงแตกขึ้นมาก็จะมีผลที่โชว์ให้คนเห็นว่าโอกาสที่ กนง.จะดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ก็มี เพราะเริ่มมีคณะกรรมการมองว่าดอกเบี้ยคงลงเพราะภาพเศรษฐกิจไทยไม่ดี”

จับตา ‘เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจไทย’ ทรุดหนุนลดดอกเบี้ย

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) กล่าวว่า คาดว่า กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ แม้เสียงที่ออกมาจะเอกฉันท์ หรือเสียงแตกก็ตาม เนื่องจากมองว่ายังมีความไม่ชัดเจนในหลายประเทศ แม้ภาพเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะออกมาไม่ดี รวมถึงเงินเฟ้อเงินทั่วไปที่ออกมายังติดลบ 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาคือ เศรษฐกิจยังมีโมเมนตัมลงต่อหรือไม่ นอกจากเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงต่อเนื่อง หรือติดลบด้วยหรือไม่ เหล่านี้อาจสะท้อนอาการของเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

“โอกาสเสียงแตกคงมีแต่ไม่มาก แต่เชื่อว่าจะไม่ต่างกันมาก เพราะทุกคนอาจต้องรอดูข้อมูลใหม่ที่จะออกมาในระยะข้างหน้า สะท้อนภาพนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกออกมาแย่ด้วยระดับ 1% หรือเฮดไลน์อินเฟชั่นออกมาระดับ 0.1-0.2% หากเป็นแบบนี้ อาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แย่ และยิ่งไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะไม่มีตัวพยุงเลย ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยอาจพลิกลงเร็วกว่าคาดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม้ประมาณการของเรามองว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยหลังเฟด ในครึ่งปีหลังไปแล้ว”