วิวาทะเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นการแทรกแซงแบงก์ชาติหรือไม่?

วิวาทะเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นการแทรกแซงแบงก์ชาติหรือไม่?

ความเห็นต่างเรื่อง "ดอกเบี้ย" นี้จะเกิดขึ้นต่อไปไม่สิ้นสุด ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ

ว่าด้วยความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อนผ่าวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีนั้น เท่าที่กวาดตามองไปรอบ ๆ ก็ไม่ค่อยเห็นมีการหยิบประเด็นการแทรกแซงมาพูดถึงกันนัก เราไม่มีศาลคดีนโยบายการเงินการคลัง ไม่มีคณะบุคคลที่จะชี้ขาดว่าแบบไหนจึงเรียกว่าแทรกแซง ผู้เขียนเห็นว่า การแทรกแซงหรือไม่แค่ไหนนั้น เป็นความเห็นของสาธารณะ และขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ดังจะขออภิปรายดังนี้ครับ

ย้อนกลับไปในปี 2022 ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงทั่วโลก และธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ใครไม่ขึ้นดอกเบี้ยอาจจะถูกมองว่าไม่ทำหน้าที่ จะขึ้นมากหรือขึ้นน้อย ขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นแล้วกดเงินเฟ้อลงสำเร็จหรือไม่ ก็สามารถประเมินหรือถกเถียงได้ แต่หากมีรัฐบาลใดในช่วงเวลานั้น ส่งสัญญาณกดดันให้ธนาคารกลางตนเองลดดอกเบี้ย ย่อมเป็นแรงกดดันที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ ขาดการสนับสนุนจากชุมชนนักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์นักวิเคราะห์ในตลาดการเงิน ขาดความชอบธรรม และย่อมถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายนโยบายการเงินอย่างมิต้องสงสัย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงเข้าสู่ 2023 เงินเฟ้อทยอยปรับลดลงทั่วโลก ในบ้านเราเองถือว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงเร็วกว่าคาด กลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อของแบงก์ชาติเร็วกว่ากำหนด และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี 2023 ตลาดดอกเบี้ยเริ่มสะท้อนความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย

         โดยในราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2023 เป็นครั้งแรกที่อัตราผลตอบแทนอายุ 1 ปี และ 2 ปีของ bond curve และ swap curve เริ่มขยับลดลงต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ซึ่งเป็นเหมือนสัญญานแรกที่ชี้ว่า ผู้เล่นในตลาดดอกเบี้ยมั่นใจว่า แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยภายใน 12 เดือนข้างหน้า ตามด้วยสุ้มเสียงนักกลยุทธ์ตลาดการเงิน ที่เริ่มชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยนับถอยหลังเข้าสู่ขาลง ทั้งนี้ ณ วันที่ 26 มกราคม 2024 อัตราผลตอบแทนอายุ 1 ปีของ bond และ swap curve อยู่ที่ 2.34 และ 2.26 ตามลำดับ

           ที่ว่ามายืดยาวนี้ เพื่อต้องการชี้ว่า แรงกดดันของรัฐบาลที่อยากจะเห็นการลดดอกเบี้ย ถือว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดการเงิน สอดคล้องกับความเห็นของนักกลยุทธ์ตลาดดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราจึงอาจเห็นว่า แรงกดดันจากรัฐบาลในครั้งนี้ดูจะได้รับการสนับสนุนและมีความชอบธรรมอยู่ระดับหนึ่ง

          และนั่นอาจช่วยอธิบายได้ว่า ประเด็นรัฐบาลแทรกแซงก้าวก่ายแบงก์ชาติจึงไม่เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง หรือถ้าจะมีอยู่บ้างก็ “จุดไม่ติด” และอาจต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ได้ขยับเกินไปกว่าปริมณฑลทางเศรษฐศาสตร์การเงินไปบ้าง

วิวาทะเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นการแทรกแซงแบงก์ชาติหรือไม่?

           ขอกล่าวปิดท้ายว่า ความเห็นต่างเรื่องดอกเบี้ยนี้จะเกิดขึ้นต่อไปไม่สิ้นสุด ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ เรื่องการแทรกแซงหรือไม่ คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป มีเพียงความเห็นของแต่ละคนแต่ละองค์กร แต่สิ่งที่เราได้เห็นคือ รัฐบาลและแบงก์ชาติ ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคน 70 ล้าน ได้ทำหน้าที่อธิบายเหตุผลของตนเองด้วยข้อมูลและด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง โดยสังคมรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ จึงถือเป็นภาพที่สวยงามของประเทศไทย