‘เงินบาท’ปี67ส่อผันผวนหนัก จับตา‘เฟด’ลดดบ.ฉุดดอลลาร์

‘เงินบาท’ปี67ส่อผันผวนหนัก จับตา‘เฟด’ลดดบ.ฉุดดอลลาร์

นักวิเคราะห์ คาดเงินบาทส่อผันผวนหนักในทิศทางแข็งค่า ชี้ผลจากดอลลาร์อ่อน ขณะ ยอดเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดไทยส่อกลับมาสูงขึ้น เตือนรับมือความผันผวน แนะจับตาสัญญาณ “เฟด” ลดดอกเบี้ย ปัญหาการเมืองโลก

ปี 2566 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ “เงินบาท” ผันผวนรุนแรงโดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในระดับ 32.57-37.24 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดสิ้นปี ที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 1.3% แถมยังเป็นระดับที่แข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค

ส่วนแนวโน้มปี 2567 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อเนื่อง แต่มีโอกาสสูงที่จะผันผวนในทิศทางของการแข็งค่า 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ในปี 2567 มองกรอบค่าเงินบาทที่ระดับ 32.25-36.50 บาทต่อดอลลาร์ มีกรอบช่วงครึ่งปีแรกที่ระดับ 32.75-36.50 บาทต่อดอลลาร์ และช่วงครึ่งปีหลัง 32.25-34.00 บาทต่อดอลลาร์ มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงปลายปี

โดยมีสาเหตุจาก 4 ปัจจัยหลัก   1.การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่องและการลดดอกเบี้ยลงของเฟด  2.ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะยังคงเกินดุลเพิ่มขึ้น  3.แรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่จะกลับมาโดยเฉพาะในส่วนหุ้นไทย และ4.ปัจจัยอื่นๆที่สำคัญอย่างโฟลว์ธุรกรรมทองคำ

“มองว่าช่วงครึ่งหลังปี 2567 ยังเป็นจุดที่ต้องระวังความผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น หลังจากช่วงในไตรมาส 2 เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (หากสมมติฐานถูกต้อง) มีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง”

นอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

 1.ความเสี่ยงแนวโน้มเศรษฐกิจบรรดาเศรษฐกิจหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือยูโรโซนและอังกฤษก็ล้วนเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า 

2.ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงดูดีและแข็งแกร่งกว่าคาดอาจทำให้ตลาดการเงินเผชิญปัจจัยความเสี่ยงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดได้จากตลาดคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วและลึกไปพอสมควรแล้ว 

3.ความวุ่นวายของการเมืองและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ในปีหน้าตลาดการเงินจะเผชิญกับการเลือกตั้งใหญ่ในหลายประเทศมีไฮไลต์สำคัญ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (5 พ.ย.) อาจเห็นการกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของโดนัลด์ทรัมป์ได้

ทั้งนี้แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น(Local Currency) ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ผันผวนช่วงแรก

“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์”ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าแนวโน้มในปี 2567 คาดการณ์เงินบาทอาจยังคงปรับตัวอย่างผันผวนช่วงแรก เพราะเป็นช่วงตลาดยังคงอยู่ระหว่างประเมินจังหวะเวลาที่ชัดเจนของการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดและยังมีความกังวลต่อเนื่องในประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ดีเงินบาทอาจเริ่มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น หากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความชัดเจนและต่อเนื่อง รวมถึงช่วงต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยเริ่มแคบลง โดยสายงานธุรกิจตลาดทุนธนาคารกสิกรไทย คาดว่าค่าเงินบาทปิดสิ้นปี 2567 ที่ระดับประมาณ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

‘อีไอซี’จับตาแตะ32บาทต่อดอลลาร์

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB คาดการณ์ทิศทางเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปที่ราว 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ในสิ้นปี2567 จากปัจจัยหนุนทำให้แข็งค่าต่อได้ จากปัจจัยในประเทศ ได้แก่เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจาก 2.6 % ในปี 2566 เป็น 3.0 % ในปี 2567 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลมากขึ้น

หลังจากไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วราว 5% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟด จะลดดอกเบี้ยเร็วในปีหน้า นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาทองที่สูงขึ้น และค่าเงินภูมิภาคที่เริ่มกลับมาแข็งค่า

‘กรุงศรี’คาดแนวโน้มแข็งค่าขึ้น5%

“รุ่ง สงวนเรือง”ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นราว 5 % ให้เป้าหมายสิ้นปี 2567 ไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยชี้นำสำคัญมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักส่วนใหญ่ นำโดยเฟดและอีซีบี ได้แตะจุดสูงสุดของวัฏจักรแล้วในปี 2566 ทำให้มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินโลกในระยะถัดไป เริ่มปรับน้ำหนักไปที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงกลางปี 2567 และลดครั้งละ 0.25 % ทุกรอบประชุม หลังจากนั้น