SCB EIC ชี้แก้หนี้ชัด 2 - 3 ปี ฉุดเศรษฐกิจไทยโตรั้งท้ายโลก

SCB EIC ชี้แก้หนี้ชัด 2 - 3 ปี ฉุดเศรษฐกิจไทยโตรั้งท้ายโลก

SCB EIC มองแนวทางแก้หนี้ของภาครัฐ คาดใช้เวลา 2 - 3 ปี และต้องมาพร้อมกับเพิ่มรายได้ พบคนมีรายได้ปานกลาง - ต่ำ มีแนวโน้มเป็นหนี้นานกว่า ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิดได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายโลก และ ‘จีดีพี’ 20 ปีข้างหน้า โตเฉลี่ยแค่ 3.03%

แนวทางการแก้หนี้ที่ทางภาครัฐออกมานั้น และจากผลการสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2566 (พ.ย.2566) ยังพบว่า ผู้มีรายได้ 15,000 - 30,000 บาท หรือต่ำกว่ามีพฤติกรรมจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำ หรือผิดนัดชำระหนี้เป็นบางครั้ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% โดยเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง - ต่ำ มีแนวโน้มเป็นหนี้นานกว่า ขณะเดียวกันแนวโน้มหนี้เสียรายย่อยเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มรถยนต์ และบัตรเครดิต

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Intelligence Center (EIC)  ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การแก้หนี้จะต้องใจเย็น และที่สำคัญไม่ได้เกิดจากการลดหนี้เพียงอย่างเดียว จะต้องควบคู่กับการเพิ่มรายได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องไปดูที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ถึงจะเห็นภาพการแก้หนี้ที่ชัดขึ้น

ขณะเดียวกันล่าสุด SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ และในระยะต่อไปยัง “โตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน" ซึ่งจากที่ SCB EIC ทำตัวเลขจีดีพียาวไปถึงปี 2567 - 2588 แล้ว ซึ่งจีดีพีโดยเฉลี่ยจะโต 3.03% จากช่วงก่อนโควิด-19 ปี 2562 ที่โตเฉลี่ยที่ 3.45% พบว่าเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง และจะโตต่ำบนศักยภาพการเติบโตลดลง อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งลงทุนต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และแผลเป็นจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งชัดเจนว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ล่าช้าติดอันดับรั้งท้ายของโลก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง และอ่อนแอจากภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า

อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐ มีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว

“เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าตามศักยภาพการเติบโตของไทยเติบโตต่ำลง จากที่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่สะสมมานาน ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง การกระจุกตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจ และความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์