Open Data for Consumer Empowerment คืออะไร และมีดีอย่างไร

Open Data for Consumer Empowerment คืออะไร และมีดีอย่างไร

“ข้อมูลคือ ขุมทรัพย์ หรือ Data is the new oil” คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงในโลกปัจจุบัน ความท้าทายที่สำคัญ คือจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายสามารถ “ใช้ประโยชน์ร่วมกันจากข้อมูล” ได้เป็นอย่างดี

ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวนโยบายการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ หรือ Open Data for Consumer Empowerment จนถึงสิ้นปี 2566 ผู้เขียนจึงขอเล่าสู่กันฟังถึงแนวนโยบายนี้ว่า คืออะไร และมีดีอย่างไร

นโยบายนี้เป็นหนึ่งใน 3 O’s คือ 1.Open Data เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล 2.Open Infrastructure เปิดกว้างให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และ 3.Open Competition เปิดกว้างให้มีการแข่งขัน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักการสำคัญของ “การเงินดิจิทัล” ที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย หรือ Financial Landscape

Open Data for Consumer Empowerment คืออะไร และมีดีอย่างไร

ในส่วนของ Open data คือ การสร้างกลไกที่จะเอื้อให้ประชาชนสามารถ “ใช้สิทธิในการส่งข้อมูลของตนที่มีอยู่” ไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่างๆ “เพื่อสมัครหรือใช้บริการ” กับผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวก และปลอดภัย

ทางด้านผู้ให้บริการ สามารถเข้าถึงข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ ด้วยการเชื่อมต่อ และกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ลดความซ้ำซ้อน และต้นทุนการดำเนินงาน​​

กรณีหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ได้พัฒนากลไก Open Data for Consumer Empowerment แล้ว เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตน ซึ่งช่วยให้เกิดการพัฒนาบริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น 

ตัวอย่างเช่น อังกฤษ และเกาหลีใต้ มีการรวบรวมข้อมูลของลูกค้า มาประมวล และคำนวณคะแนนเครดิตเบื้องต้น รวมถึง การส่งข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้ให้บริการสินเชื่อหลายรายภายใต้ความยินยอมของลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีบริการจากผู้ให้บริการ Payment Initiation Service Provider (PISP) ที่ให้ลูกค้าสามารถ เลือกส่งคำสั่งโอนเงิน หรือชำระเงิน จากบัญชีใดก็ได้ที่ลูกค้ามีอยู่ ไปยังผู้ให้บริการหลายราย ผ่าน mobile application เดียวได้ เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลายขึ้น

Open Data for Consumer Empowerment คืออะไร และมีดีอย่างไร

กรณีประเทศไทย สิ่งที่คาดหวังจากการพัฒนากลไก Open Data for Consumer Empowerment จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับทั้งลูกค้า ผู้ให้บริการทางการเงิน และภาครัฐ ดังนี้

1.ประชาชนและเอสเอ็มอี สามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตน เพื่อสมัครหรือใช้บริการทางการเงิน ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวก ปลอดภัย และเหมาะกับความต้องการมากขึ้น เช่น  

  • สมัครขอสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ด้วยข้อเสนอที่เหมาะกับความเสี่ยงของตนเอง 
  • มีทางเลือกมากขึ้น สมัครขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการหลายรายได้สะดวก และเปรียบเทียบข้อเสนอได้
  • สามารถเรียกดูสถานะ และบริหารจัดการบัญชีทางการเงินต่างๆ ได้ ใน mobile application เดียว และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การออม การลงทุน ที่เหมาะกับตน

2.ผู้ให้บริการทางการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และที่ไม่ใช่ ธพ. (non-bank) สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น และอย่างปลอดภัย

เช่น สามารถประเมินพฤติกรรม และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าด้วยข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อออกแบบสินเชื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ ทั้งยังมีการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานแต่ละระบบ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ภายใต้มาตรฐานกลาง/กระบวนการเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเชื่อมต่อ

3.ภาครัฐ สามารถบริหารจัดการข้อมูลของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ ธปท.ในเรื่อง Open Data for Consumer Empowerment ในระยะสั้น จะมีอะไรบ้าง 

(1) Regulations/Incentives คือ การออกเกณฑ์ กำหนดข้อตกลง และสร้างแรงจูงใจ แก่ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท. เพื่อให้

  • Open Data ภาคการเงิน มีกลไกที่เอื้อต่อลูกค้าสามารถใช้สิทธิ ในการเรียกใช้หรือส่งข้อมูลของตน ระหว่างผู้ให้บริการในภาคการเงิน ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวก และปลอดภัย
  • Open Data ภาคส่วนอื่นเชื่อมกับภาคการเงิน โดยการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนากลไกในลักษณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคการเงิน เช่น ข้อมูลการใช้ และชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
  • การนำข้อมูลไปพัฒนาบริการใหม่ๆ โดยการพิจารณาเปิดให้ ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท.สามารถให้บริการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตามความยินยอมของลูกค้า สำหรับนำไปพัฒนาบริการใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้า

(2) Common Standard คือ การกำหนด “มาตรฐานกลาง” ในการเชื่อมต่อ และรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงมีการ “ขึ้นทะเบียนและตรวจสอบผู้ให้บริการ” ที่จะเข้าร่วม

เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานกลางที่กำหนดไว้ เพื่อให้การเชื่อมต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความปลอดภัย และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ช่วยลดต้นทุน และไม่ต้องพัฒนามาตรฐานซ้ำซ้อน

(3) Common Infrastructure/Shared Services คือ พิจารณาการมี “โครงสร้างพื้นฐานกลางหรือกระบวนการมาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน" เพื่อผู้ให้บริการสามารถเชื่อมต่อหรือใช้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายที่ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการเชื่อมต่อ เช่น กระบวนการยืนยันตัวตน

ในระยะยาว ธปท.มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา Open Data for Consumer Empowerment Ecosystem ในระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ ปัจจัยของความสำเร็จย่อมประกอบด้วย

  1. ผู้ใช้บริการต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้านดิจิทัล ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบกลไกการใช้งานที่ง่ายและปลอดภัย
  2. กฎระเบียบ เงื่อนไข และต้นทุนการเรียกใช้หรือส่งข้อมูล ที่จะต้องจูงใจ ให้ทั้งผู้ให้ และผู้ใช้บริการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม และช่วยกันดูแลให้กลไก Open Data for Consumer Empowerment ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน 
  3. การสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการใช้กลไกดังกล่าว ธปท.จึงขอเปิดรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะ โดยผู้สนใจสามารถส่งความเห็นทางเว็บไซต์ของ ธปท. www.bot.or.th หรืออีเมล [email protected] จนถึงสิ้นปี 2566

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์