มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมแก้หนี้กันเถอะ

มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมแก้หนี้กันเถอะ

วันนี้ 31 ตุลาคม 2566 เป็นวันที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามวันฮาโลวีน แต่แท้ที่จริงยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ “วันการออมแห่งชาติ” ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาร่วมปลุกวิญญาณการออมและร่วมกันแก้หนี้ค่ะ

เมื่อพูดถึงการออม คงได้รับคำตอบนานาทัศนะ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นว่าไม่มีเงินออม มีแต่หนี้ ดังนั้น เงินออมและหนี้จึงมีความสัมพันธ์กัน ผ่านการปรับรายรับและรายจ่ายว่าอย่างใดจะสูงกว่ากัน หากการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ก็ย่อมมีเงินเหลือสะสมเป็นเงินออมได้

ดังคำกล่าวที่ว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ในทางตรงข้าม หากมีเงินน้อยแต่กลับใช้จ่ายมากกว่าที่ทำมาหาได้ ก็เลี่ยงไม่พ้นเรื่องการก่อหนี้

จากผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดย ธปท.ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตามกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า คนส่วนใหญ่มีแรงจูงใจสำคัญในการออมจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียง 20% ที่แบ่งเงินเพื่อการออมไว้ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย จึงทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายการออมที่ตั้งใจไว้กัน 

ทั้งยังพบว่า ปัญหาเงินไม่พอใช้ของคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคน 26 ประเทศที่ตอบแบบสำรวจ OECD ค่อนข้างมาก จึงเป็นจุดอ่อนที่ควรเร่งปิด

เหตุใดจึงมีปัญหาเงินไม่พอใช้ค่อนข้างมากจนต้องก่อหนี้ครัวเรือน

ส่วนหนึ่งเพราะขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความไม่แน่นอนในชีวิต ซึ่งทางแก้ปัญหาอาจเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถในการปรับตัว ให้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของความไม่พร้อมทางการเงินอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาอคติเชิงพฤติกรรม 

จากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนถึงอคติชอบปัจจุบัน (Present bias) ที่ว่าการใช้จ่ายเพื่อความสุขในวันนี้มากกว่าการออมเพื่อความสุขวันหน้า

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) พบว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็ว โดย 60% ของคนอายุน้อยเป็นหนี้ และเป็นหนี้นานและเป็นหนี้จนแก่ โดย 20% ของคนหลังเกษียณก็ยังเป็นหนี้

มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมแก้หนี้กันเถอะ

หนทางในการแก้ปัญหาจึงมี 2 เรื่องสำคัญ คือการส่งเสริมพฤติกรรมสร้างเงินออมภาคครัวเรือน และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

1.การสร้างพฤติกรรมการออม

ก่อนที่จะมีเงินออมได้ ควรต้องมีการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมเสียก่อน คำถามที่สำคัญคือเคยมีการตรวจสุขภาพการเงินส่วนบุคคลกันบ้างไหม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยแบ่งเงินที่รับต่อเดือน ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็น และเงินออมแต่ละเดือนแล้วหรือยัง การจัดทำบัญชีครัวเรือนจะช่วยให้วางแผนว่ามีรายจ่ายใดที่อาจตัดออกได้ 

พวกรายจ่ายที่เกินจำเป็น เช่น รายจ่ายซื้อของฮิตติดเทรนด์บ่อยๆ หรือรายจ่ายที่ไม่เหมาะสม เช่น การพนัน หรือรายจ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ที่จริงๆ แล้วสามารถแปรสภาพรายจ่ายดังกล่าวนี้เป็นเงินออม เผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินในวันหน้าได้

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรเร่งปลูกฝังการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้สนใจสามารถจูงลูกๆ หลานๆ มาที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. มีให้บริการนิทรรศการความรู้ทางการเงิน (BOT Money Terminal) และพิพิธภัณฑ์ ธปท. บรรยากาศดีริมน้ำเจ้าพระยา (ปิดวันจันทร์) หรือเข้าเยี่ยมชม สตางค์ story ในเว็บไซต์ ธปท.ได้ทุกเวลา

2.การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ ธปท.จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผนึกกำลังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร

โดยการออกมาตรการ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่จะเริ่ม 1 ม.ค.2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นไป

มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมแก้หนี้กันเถอะ

มาตรการ Responsible Lending มีอะไรบ้าง

ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เริ่มจาก 

(1) ก่อนเป็นหนี้ ก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว 

(2) ระหว่างเป็นหนี้ ก็ต้องให้ข้อมูลกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ เช่น จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย

(3) เมื่อลูกหนี้มีปัญหา ก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถชำระหนี้ 

(4) เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ก็ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้และผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขชำระหนี้อย่างเหมาะสม

มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมแก้หนี้กันเถอะ

นอกจากนี้ จะมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน ที่มีรายได้น้อยและเป็นหนี้เรื้อรัง (จ่ายดอกเบี้ย มากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ

โดยลูกหนี้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ต้องปิดวงเงินเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่มและควรมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

ธปท.ยังพิจารณาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อดูแลภาคการเงินที่ยั่งยืน ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดของการเงินเพื่อความยั่งยืนนี้ได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.

 ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนทางการเงินส่วนบุคคล โดยสิ่งดีๆ คงเริ่มจากที่ตัวเราเองก่อน ตั้งเป้าหมายการเก็บออมต่อเดือน และลงมือทำบัญชีครัวเรือนกัน ส่วนที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ก็ลองสำรวจดูว่า จะสามารถเตรียมการเพื่อจะเข้าร่วมโครงการเพื่อปิดจบหนี้ภายใน 5 ปีกันนะคะ 

ผู้เขียนขอเอาใจช่วยให้คนไทยทุกคน มีการวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินส่วนบุคคลที่ดีรับวันออมแห่งชาติกันค่ะ

(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)