“Lifelong learning” เรียนรู้ตลอดชีวิต : ทักษะที่ต้องมี ในโลกที่หมุนเร็ว

“Lifelong learning” เรียนรู้ตลอดชีวิต : ทักษะที่ต้องมี ในโลกที่หมุนเร็ว

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่เรื่องที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คน “รู้” เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้

การเปลี่ยนแปลงของโลกมีหลายมิติ ที่สำคัญคือ Technology disruption ซึ่งจากการที่ผู้เขียนเข้าฟังงานสัมมนา EEF Forum ปีนี้ ด้วย มูลนิธิ 50 ปี ธปท. เป็นส่วนหนึ่งของพลังเครือข่าย All for Education ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นั้น

ช่วงหนึ่งมีการนำเสนอโดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ซึ่งมีการเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีหมุนเร็วกว่าเมื่อก่อนถึง 20 เท่า เพราะยุคก่อน disruption ต้องใช้เวลา 600 ปีที่ชีวิตจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ในยุค disruption จะใช้เวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น

ทักษะที่มีอยู่จะหมดความสำคัญลงเร็วมาก สิ่งที่เรารู้ในวันนี้อาจจะใช้ไม่ได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จึงควรพัฒนาคน โดยไม่จำกัดแค่ Hard skill แต่ควรมี Soft skill ให้ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ โดยความพร้อมในด้านอาชีพที่สำคัญ (career readiness) คือทักษะการแก้ปัญหา เรียนรู้ และต่อยอด นำไปสร้างโอกาสให้ตนเอง  

“Lifelong learning” เรียนรู้ตลอดชีวิต : ทักษะที่ต้องมี ในโลกที่หมุนเร็ว

ที่มา: ทุนมนุษย์เพื่อพ้นความยากจนข้ามรุ่น (eef.or.th) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ขณะเดียวกัน จากรายงาน Future of Jobs Survey ของ World economic Forum ปีนี้ ที่มีการสำรวจกว่า 800 บริษัทใน 45 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมคนงานกว่า 11 ล้านคน สะท้อนว่า ทักษะคนงานราว 44% จะถูก disrupt ภายใน 5 ปีข้างหน้า และราว 6 ใน 10 ของพนักงาน จำเป็นที่จะรับการ training ก่อนปี 2027

ที่สำคัญคือความรู้ด้านเทคโนโลยีและความสามารถในการปรับตัว โดยมีบริษัทราว 30% ที่เน้นด้านทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) 

ซึ่งทาง McKinsey สะท้อนว่า ควรสร้างมาจากทั้ง 2 ทางคือ 1. องค์กร ที่เร่งสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อโลกธุรกิจที่เปลี่ยนเร็ว และ 2. ตัวพนักงานเอง ก็ควรเร่งพัฒนาตนเอง ไม่หยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

แม้ทักษะการเรียนรู้ ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ โดยงานวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ชี้ว่า เด็กในชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากที่สุด เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และเป็นช่วงวัยแห่งการพัฒนาการเรียนรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเด่นชัด แต่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจำเป็นที่ต้องได้รับการส่งเสริมกับคนทุกช่วงวัย 

เมื่อทุกคนต้องเผชิญกับโลกหมุนเร็วเหมือนกัน ความรู้หลายอย่างในวันนี้ จะล้าสมัยลงเร็ว เทคนิคหนึ่งที่ทุกช่วงวัยควรมี คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดย

1. Learn คือการมีองค์ความรู้จากการเรียนรู้ที่ผ่านมา

2. Unlearn คือการเข้าใจว่าสิ่งที่เคยเรียนรู้ในอดีต อาจใช้ไม่ได้ผล จึงไม่ควรยึดติดหรือควรกล้าลบสิ่งเดิมๆ ออกไป และ

3. Relearn คือการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าจะอายุเท่าใด ก็สามารถเรียนรู้ได้เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตมีจำกัด แต่ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด (Life is finite, While knowledge is infinite: Zhuangzi quote)” 

เทคนิคพื้นฐานในการสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับตนเอง คือ ต้องเริ่มจากการมี Growth Mindset ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว เปิดรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และ ควรหาโอกาสพาตนเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อ เช่น ร่วมงานกับคนเก่งหรือหมั่นพัฒนาตนเอง

อีกทั้งควรเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง หรือ Active Learning จะช่วยให้ได้ฝึกทั้งกระบวนการคิดและลงมือทำ สามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับการทำงานจริง 

การพัฒนาคนถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก และเป็นสิ่งสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ 

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นอีกแนวนโยบายสำคัญในการพัฒนาประชากรของประเทศ ตัวอย่างกรณีสิงคโปร์ มีการวางนโยบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการสนับสนุนการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ผ่านทางองค์กร Skill Future Singapore หรือ SSG เพื่อพัฒนาทักษะที่หลากหลายของทุกช่วงวัย

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตยังสอดรับกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยการเตรียมประชากรให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีความรู้กับทักษะใหม่ๆ  และมีศักยภาพในการทำงาน สามารถอยู่ในตลาดแรงงานแม้ว่าจะมีอายุมาก

กรณีประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังคนแบบบูรณาการ และมีการสร้าง  แพลตฟอร์ม EWE (E-Workforce Ecosystem)  จัดทำโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)เพื่อการพัฒนาสมรรถนะด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงานบนโครงสร้างเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยในการสร้างโปรไฟล์ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อ และยังเป็นกลไกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) อย่างต่อเนื่อง

โดยมีระบบสนับสนุนและส่งเสริมการรับรองการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย ผ่านการสะสมรายวิชาหน่วยย่อยเพื่อรวบรวมออกใบประกาศหรือเทียบวุฒิการศึกษาได้

เมื่อโลกเปลี่ยน คนต้องปรับ เรียนรู้เพื่อรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา มาร่วมกันสร้างความเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรับมือกับโลกที่หมุนเร็วกันนะคะ

 บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด.